ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันเสาร์

ครูบาศรีวิชัย

ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย



วัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน


ครูบาศรีวิชัย เป็นพระนักพัฒนาแห่งดินแดนล้านนา ที่ใช้เวลา ใช้กำลังกาย กำลังใจ ของท่านอย่างมากมายมหาศาลในการดำรงวัติปฏิบัติของท่านให้เกิดประโยชน์กับผู้คน .....  ท่านเป็นพระที่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในดินแดนภาคเหนือของไทย และมีผลงานปรกฏมากมายและยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ครูบาศรีวิชัย เดิมชื่ออินทร์เฟือน เกิดวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2421 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุตรคนที่ 3 ใน 5 ของนายควาย และนางอุสา ครอบครัวเป็นชาวนายากจน อยู่ที่ บ้านปาง ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน ต้นตระกูลเป็นหมอคล้องช้าง ของเจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 7

ครูบาศรีวิชัย เมื่ออายุ 18 ปีได้บวชเป็นสามเณร และเมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปี ก็ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า สิริวิชโยภิกฺขุ มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย..... ครูบาศรีวิชัยรับการศึกษาจากครูบาอุปละ วัดดอยแตเป็นเวลา 1 พรรษาก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปางจนถึง พ.ศ. 2444 อายุได้ 24 ปี พรรษาที่ 4 ครูบาขัตติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป (บางท่านว่ามรณภาพ) ครูบาศรีวิชัยจึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ 5 ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือบริเวณเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี โดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน

ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 26 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง 5 เดือน คงฉันเฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง 7 คือวันอาทิตย์ ไม่ฉันฟักแฟง, วันจันทร์ ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา, วันอังคาร ไม่ฉันมะเขือ, วันพุธ ไม่ฉันใบแมงลัก, วันพฤหัสบดี ไม่ฉันกล้วย, วันศุกร์ ไม่ฉันเทา (อ่าน "เตา"-สาหร่ายน้ำจืดคล้ายเส้นผมสีเขียวชนิดหนึ่ง), วันเสาร์ ไม่ฉันบอน .... นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิกและผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง 4 จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก

ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า "ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว" และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายชองคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่ วัดพระธาตุดอยสุเทพโดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง 5 เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ

ครูบาศรีวิชัยมีความสนใจด้านวิปัสสนา ปฏิบัติตามแบบอย่างของพระวัดป่าอย่างเคร่งครัด ถือสันโดษ มักน้อย อัตลักษณ์ของครูบา เวลาไปไหนมาไหนจะถือพัดใบลานและสวมลูกประคำเสมอ ..... ชีวิตความเป็นสงฆ์ ฉันอาหารมื้อเดียว คือ มื้อเช้า ถ้าเป็นวันพระจะไม่ฉันอาหารเลย อาหารที่ฉันเป็นมังสวิรัติ และมัชชวิรัต เว้นจากของเสพติดทั้งหมด ไม่ยึดติดกับวัตถุปัจจัย วัตถุที่มีคนถวายทานโดยเฉพาะเงิน จะไม่จับต้องเลย ทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา ..... อีกทั้งการออกธุดงควัตรของครูบา ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีบทบาทและมีความสัมพันธ์กับครูบาศรีวิชัยมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ..... ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในเขต อ.แม่สะเรียง และ อ.ลี้ ขนานนามครูบาศรีวิชัยว่า "กระแฉ่บั้ง" ซึ่งคำว่า "กระแฉ่" หมายถึงผู้วิเศษที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติและเหนือวิญญาณหรือผีอื่นๆ ส่วนคำว่า "บั้ง" หมายถึง สีเหลือง คือสีจีวรที่นุ่งห่ม

ครูบาศรีวิชัย ได้จาริกแสวงบุญไปทั่วทุกสารทิศ และได้บูรณะวัดไว้มากมาย จนได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหมวดอุปัชฌาย์ จึงทำให้มีลูกศิษย์จำนวนมาก ช่วยเสริมบารมีท่านให้แก่กล้า กระทั่งเป็นที่จับตาของคณะสงฆ์มณฑลพายัพ ...... จึงถูกอธิกรณ์ระยะแรกจากคณะสงฆ์ล้านนา มีการดำเนินคดีความเป็นช่วงระยะเวลายาวนาน เกือบ 30 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.2451-2479 ...... แต่ผลจากการอธิกรณ์เหล่านี้ กลับสร้างบารมีให้แก่ครูบา จนมีคำกล่าวว่า "มาร บ่ มี บารมี บ่ แก่กล้า"  ที่สุดแล้ว ไม่มีใครทำอะไรท่านได้ เพราะท่านมีลูกศิษย์ที่เป็นแนวร่วมและพร้อมจะปกป้องคุ้มครองครูบา จนทำให้เกิดภาพลักษณ์ของความเป็น "ตนบุญแห่งล้านนา" มาจนถึงปัจจุบัน

ครูบาศรีวิชัยมีผลงานด้านการบูรณะและสร้างศาสนสถานมากมาย อาทิเช่น บูรณะพระเจดีย์ พระธาตุดอยเกิ้ง อำเภอฮอด (พ.ศ. 2464) สร้างวิหารวัดศรีโคมคำพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา (พ.ศ. 2465)บูรณะพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย บูรณะพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ (พ.ศ. 2466) วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2467) สร้างธาตุและบันไดนาค วัดบ้านปางพระธาตุเกตุสร้อยแก่งน้ำปิง (พ.ศ. 2468) รวบรวมพระไตรปิฏกฉบับอักษรล้านนาจำนวน 5,408 ผูก (พ.ศ. 2469-2471) บูรณะวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2474) และผลงานชิ้นอมตะคือ การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ศรัทธาสานุชนมาร่วมกันสร้างถนนวันละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ตามสัจจะวาจา (พ.ศ. 2478) สร้างวิหารวัดบ้านปาง(พ.ศ. 2478 เสร็จปี พ.ศ. 2482) วัดจามเทวี (พ.ศ. 2479) สุดท้าย คือ สะพานศรีวิชัย เชื่อมระหว่างลำพูน (ริมปิง) - เชียงใหม่(พ.ศ. 2481) ที่มาสร้างเสร็จภายหลังจากที่ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ (รวมวัดต่างๆที่ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยไปบูรณะปฏิสังขรณ์รวม 108 วัด)..... ผลงานที่เด่นมากของครูบาศรีวิชัยก็คือ การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ

ก่อนที่ครูบาศรีวิชัยจะละสังขารท่านได้สั่งเสียกับลูกศิษย์คนใกล้ชิดว่า ท่านอยากกลับไปตายที่บ้านปาง สถานที่เกิด และสั่งให้เอาน้ำผึ้ง 1 ขวด กรอกใส่ปากท่าน เมื่อท่านสิ้นอายุขัย ศพจะได้ไม่เน่าเปื่อย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2481 ท่านได้มรณภาพลง ..... เมื่อข่าวการมรณภาพของครูบาศรีวิชัยแพร่กระจายออกไป ทั้งชาวลำพูนและชาวเชียงใหม่ต่างต้องการจะนำศพท่านไปประกอบพิธีกรรม แต่ด้วยสัจวาจาที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า "ตราบใดที่แม่ปิงบ่ไหลล่องขึ้นเหนือ จะบ่ขอเหยียบย่างแผ่นดินเชียงใหม่อีก" ทำให้ชาวเชียงใหม่ยอมจำนน.....   ดังนั้น เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ผู้ครองนครลำพูนจึงได้ประกอบพิธีศพอย่างยิ่งใหญ่ 15 วัน 15 คืน ที่วัดจามเทวี ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเคยบูรณะและสร้างวิหารไว้ ...... หลังงานพระราชทานเพลิงศพ ได้มีการแบ่งธาตุของท่านออกเป็น 6 ส่วน ไว้ที่ วัดจามเทวี จ.ลำพูน วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ และวัดบ้านปาง จ.ลำพูน


คำสอนของครูบาศรีวิชัย


เครื่องประดับขัตติยะนารีทั้งหลาย มีแก้วแหวนเงินทอง เป็นตัณหากามคุณ


เหมือนดั่งน้ำผึ้งแช่ยาพิษ สําหรับนําความทุกข์มาใส่ตัวบ่มีประโยชน์สิ่งใดเลย


แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี มหิ มหาสรพู ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ทั้ง 5 แม่น้ำนี้แม้นจัก

เอามาอาบให้หมดทั้ง 5 แม่นี้ ก็บ่ อาจจะล้างบาป คือความเดือดร้อนภายในให้


หายได้ ลมฝนลูกเห็บ แม้นจะตกลงมาหลายห่า เย็นและหนาวสักปานใด ก็บ่


อาจเย็นเข้าไปถึงภายในให้หายจากความทุกขเวทนาได้


ศีล 5 เป็นอริยทรัพย์ เป็นต้นเหตุแห่งความบริสุทธิ์ เป็นน้ำทิพย์สําหรับล้างบาป


คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว สมาธิความตั้งมั่นก็จะ


มีมา แล้วให้ปลุกปัญญา ปัญญาก็จักเกิดมีขึ้นได้ คือให้หมั่นรําลึกถึงตัวตนอยู่


เสมอ ว่า บ่ใช่ตัว บ่ใช่ตน จนเห็นแจ้งด้วยปัญญาของตน


จึงเป็นสมุทเฉทประหานกิเลส หมดแล้ว จึงเป็นวิมุตติหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวลได้.

การปฏิบัติรักษาศีล 5 อันเป็นบันไดขั้นต่ำ เบื้องต้นของพระพุทธศาสนา มีอานิสงส์ให้ได้รับความสุขในปัจจุบัน ประจักษ์แจ้งแก่ตาดังนี้ ครั้นตายแล้วก็ได้ขึ้นไปเกิดบนสวรรค์ ครั้นจุติจากสวรรค์ก็ได้ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ มีรูปอันงาม มีปัญญาเฉลียวฉลาด มีทรัพย์สมบัติมาก มีอายุยืน มีเมียมีลูกมีหลาน ก็ว่านอนสอนง่าย ไม่มีศัตรูเบียดเบียนได้ และเป็นปัจจัยให้มีความสุขไปตราบถึงพระนิพพาน


ผู้ที่รักษาศีล 8 ได้ ก็ได้รับความสุขในปัจจุบันมากกว่าศีลข้อ 5 ขึ้นไปอีก คือ ไปนอนอยู่ที่วัด เป็นกายวิเวก จิตวิเวก สงบอารมณ์ ปราศจากความพยาบาท จองเวร ถีนมิทธะ ปราศจากความง่วงเหงาหาวนอน อุทธัจจะ ปราศจากความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่มีสิ่งใดมารบกวน วิจิกิจฉา ปราศจากความสงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนแล้ว คือ ไปอบรมทำใจให้บริสุทธิ์แยบคายเสมอดั่งพรหม ครั้นว่าตายก็ได้ขึ้นไปเกิดบนชั้นพรหม มีความสุขและอายุยืนยิ่งกว่าชั้นสวรรค์ ครั้นจุติก็ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลสูง มีรูปโฉมอันเงางาม มีปัญญาเฉลียวฉลาด อายุยืน มียศ มีบริวาร มีอำนาจมาก

ปุถุชนทั้งหลาย อย่าได้สงสัยว่า พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว จะบำเพ็ญอย่างใด ก็ไม่ได้ถึงมรรคผลและนิพพานนั้น ความจริงพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อท่านถึงนิพพานไปแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมคำสั่งสอน ก็ได้เป็นอรหันต์ ได้ถึงนิพพานเหมือนกัน


ถ้าผู้ใดเล็งเห็นว่า พระธรรมคำสั่งสอนเป็นความจริงบริสุทธิ์ ผู้นั้นย่อมเล็งเห็นพระพุทธเจ้าได้ทุกเมื่อ แม้นว่าท่านยังทรมานอยู่ก็ดี ผู้ใดมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องธรรม ก็ไม่อาจจะพ้นจากทุกข์ได้
ข้อปฏิบัติที่จะให้พ้นทุกข์ได้ ก็คือรักษาศีลบริสุทธิ์เสียก่อน ความตั้งมั่นก็จะมีขึ้น


เพราะฉะนั้น ปุถุชนทั้งหลาย ผู้แสวงหาความสุขใส่ตัว จงพากันรักษาศีลให้บริสุทธิ์เถิด เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว สมาธิความตั้งมั่นก็จักเกิดมีมาแล้ว ให้ปลูกปัญญาๆ ก็หากจักเกิดมีขึ้น ให้หมั่นระลึกถึงตนอยู่บ่อยๆ ว่ามิใช่ตัวตน เป็นธาตุทั้ง 4 ขันธ์ 5 ทั้งอาการ 32 โสโครก เป็นตัวทุกข์ตัวแก่ ตัวเจ็บ ตัวตาย มิใช่ตัวอันจักตามไปในโลกหน้า ให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาของตนเองแน่นอนลงไปแล้ว จึงเป็นสมุจเฉทปหาน กิเลสหมดแล้ว จักเป็นวิมุติ หลุดพ้นจากความทุกข์ได้เป็นอรหันต์จริง


อเสวนา จ พาลานํ สภาวะอันได้รู้จักพาลภายใน คือ โลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นต้นแห่งความทุกข์แล้ว ไม่ได้ซ่อมเสพคบหากับมันก็ดี บัณฑิตา นัญจะ เสวนา สภาวะอันไปเสพไปคบหากับบัณฑิตนักปราชญ์ คือให้ฟังธรรม คำสั่งสอนแห่งพระพุทธเจ้า จนได้รู้จักพาลภายในอันเป็นต้นเหตุแห่งบาปก็ดี ปูชา จ ปูชนิยานํ กิริยาอันได้ไหว้และบูชายังพระพุทธเจ้าก็ดี เอตํติวิทะ กัมมํ อันว่ากรรม 3 ประการนี้ มังคละ ก็ป็นมงคล อุตตะมํ อันอุดมดี

ความดังกล่าวมานี้....พระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญสร้างบารมีมาได้ 4 อสงไขยปลายแสนมหากัปป์ จึงได้ตรัสรู้ธรรมวิเศษ รู้ต้นเหตุที่เกิดทุกข์ รู้เหตุที่บรรเทาทุกข์ รู้เหตุที่ดับทุกข์ รู้ทางปฏิบัติที่สู่ที่ดับทุกข์แล้ว ได้นำมาเทศนาให้มนุษย์ทั้งหลายได้รู้ถี่เห็นแจ้งดังนี้ มิใช่ของที่จะพบได้ด้วยง่ายๆ เมื่อใดผู้ที่ไม่มีบุญ ไม่เคยได้บำเพ็ญมาแต่ชาติก่อนแล้ว ก็บ่ห่อนว่าจะพบได้เลย เมื่อได้เกิดมาพบคำสั่งสอนอันเป็นความจริงบริสุทธิ์ ที่จะนำตนให้พ้นทุกข์ได้ดังนี้ ก็เป็นมหาลาภอันประเสริฐแล้ว

เพราะว่าทรัพย์สมบัติทั้งหลายอันเป็นทรัพย์ภายนอกที่จะเอาไปไม่ได้นั้น ยังพากันเร่งขวนขวายหาทั้งกลางวัยกลางคืนนี้ ได้มาพบพระธรรมคำสั่งสอนที่แนะนำให้ผู้ปฏิบัติตาม ได้พ้นจากทุกข์ ในบัดนี้ไปตราบถึงนิพพานเป็นอริยทรัพย์ สำหรับติดตามไปทุกชาติ ประเสริฐกว่าทรัพย์สมบัติอันมีในโลกนี้หมื่นเท่าแสนเท่า ดังนี้ ก็เป็นโอกาสอันดีวิเศษสำหรับในชั่วชีวิตนี้ ซึ่งจะหาโอกาสดีอย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว

เมื่อเวลายังอยู่สบายนี้ ไม่ควรจะถือว่ายังเป็นเด็กหนุ่มน้อย ถ้าแก่มาแล้วจึงค่อยทำบุญนั้น เป็นผู้มีความประมาทคิดผิด เพราะตามีหน้าดูหน้าไม่เห็น พญามัจจุราชไม่มีความกรุณาใคร ไม่ว่าหนุ่มแก่ แม้อยู่ในห้อง มันก็เอา หนุ่มมันก็เอา แก่มันก็เอา ไม่ประมาทลาสา เพราะตนรู้สึกว่าจะต้องตาย หนีความตายไม่พ้นแล้ว มีปัญหาว่าจะป้องกันอย่างไร ไม่ให้มีความเศร้าโศกเสียใจ เมื่อความตายจะมีถึง ควรจะพากันรักษาศีล ทำบุญให้ทานเป็นที่พึ่งแก่ตนไว้เสียเมื่อก่อนเฒ่า เพื่อไม่ให้เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาที่ดีแล้ว ไม่ให้มีความแคล้วคลาดกินแหนงใจ เมื่อภายหลังนั้นเกิด กล่าวด้วยอานิสงส์ศีลสำเร็จแต่เท่านี้แล ฯ......

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

-