ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันเสาร์

ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุบบาท  อ่านชื่อยังยากเลยนะคะ แต่การทำความเข้าใจยากยิ่งกว่าอีกค่ะ .... เป็นธรรมะที่เป็นแก่นความจริง เป็นธรรมชาติของโลกใบนี้ที่เราควรทำความเข้าใจเลยละค่ะ  เพราะสามารถอธิบายได้ว่า ทุกๆอย่างมีที่มา มีที่ไป มีเหตุมีผลมีปัจจัย ..... หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ4 ทรงพิจรณาปฏิจจสมุปบาทอยู่ถึง7วัน และไม่ได้นำมาเป็นปฐมเทศนาเพราะเป็นธรรมที่รู้ยากเห็นยาก  พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา  .....

         องค์ธรรมหลักในปฏิจจสมุบบาทมี12ประการ เป็นเหตุปัจจัยการเกิดทุกข์และดับทุกข์ ... อาจฟังดูยากหน่อย อย่าเพิ่งท้อนะคะ  เราจะค่อยๆทำความเข้าใจไปที่ละหัวข้อ .... แล้วเพื่อนๆก็จะหายสงสัยว่า ทำไมพวกเรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่  ปฏิจจสมุปบาทไขปริศนาได้ค่ะ

        แต่เพื่อนๆอาจต้องทำความเข้าใจกับศัพท์ในความหมายของปฏิจจสมุปบาทใหม่นิดนึงนะคะ ....เนื่องจากศัพท์บางคำมีนัยความหมายหลายอย่าง ....ความหมายในปฏิจจสมุปบาทนั้นอาจทำให้เราสับสยเล็กน้อย เนื่องจากแตกต่างจากความหมายที่เราคุ้นเคยกัอยู่เดิมอะค่ะ.....

   

1.เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี

มี3คำที่เราต้องทำความเข้าใจ เอาคำกลางก่อนนะคะ  ปัจจัยหมายถึงสิ่งที่เป็นทั้งเหตุและไม่ใช่เหตุแต่ก็เป็นสิ่งที่อาศัยให้เป็นไปโยงกันไปแม้ไม่ใช่เหตุโดยตรงค่ะ ...

         อวิชชา คือความไม่รู้ ไม่รู้ในความเป็นจริงบนโลกนี้  ไม่รู้กฏของความเป็นเหตุเป็นผล กฏของความเปลี่ยนแปลง  กฏแห่งกรรม และกฏแห่งความเป็นปัจจัยโยงใยสัมพันธ์แก่กันและกัน.......

         อวิชชาแบ่งเป็น8อย่างคือ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุแห่งทุกข์ ความไม่รู้ในการดับทุกข์ ความไม่รู้ในการปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์ ความไม่รู้ในอดีต ความไม่รู้ในอนาคต ความไม่รู้ในการเชื่อมโยงทั้งอดีตและอนาคต และความไม่รู้ในอิทัปปัจจยตา หรือไม่รู้ในธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

        สังขาร หมายถึงสิ่งอันเป็นผลจากการปรุงแต่ง แบ่งออกเป็นกายสังขาร วจีสังขารและ จิตตสังขาร คือ สภาพปรุงแต่งที่แสดงออกทางกาย วาจา และใจ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี  แปลความได้ว่า เมื่อใจเห็นผิดคิดว่า กายและวัตถุธาตุเป็นของดี จึงคิดนึกปรุงแต่งต่อไปว่า สิ่งนั้นจะนำความสุขมาให้ สภาพที่ปรุงแต่งก็จะกระทำทาง กาย วาจา และใจ

2.เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญานจึงมี

        วิญญาน หมายถึง ความรู้แจ้งในอารมณ์ ที่จิตรองรับมาจากความนึกคิดปรุงแต่ง

เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญานจึงมี แปลความหมายได้ว่า  เมื่อเกิดสภาพที่ปรุงแต่งทั้งกาย วาจา ใจ จินตนาการมาอย่างผิดๆ จึงเกิดเป็นวิญญานคือ การมีจิตหรือธาตูรับรู้ที่เป็นความรู้ผิดเห็นผิด เข้าใจผิดว่า กามและวัตถุธาติเป็นสิ่งมีค่า นำมาซึ่งความสุขได้

3.เมื่อวิญญานเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี

       นามรูป คือนามธรรมและรูปธรรม (ขันธ์5) ...

       นามธรรมคือสิ่งที่ไม่มีรูป ไม่สามารถรับรู้ได้ทางตาหูจมูกลิ้น  แต่สามารถรับรู้ได้ทางใจ หรือระบบสมอง อันได้แก่ เวทนาขันธ์(อารมณ์สุขหรือทุกข์... สัญญาขันธ์(การจำได้หมายรู้) ...สังขารขันธ์(การปรุงแต่งทางกาย วาจา ใจ ) ...วิญญานขันธ์(การมีจิตรับรู้)

        รูปธรรม คือสิ่งที่มีรูป สามารถเห็นได้ สัมผัสได้ นั่นก็คือรูปขันธ์

เพราะวิญญานเป็นปัจจัยนามรูปจึงมี แปลความหมายได้ว่า เมื่อจิตมีความรู้แจ้งในอารมณ์แบบผิดๆ เข้าใจผิดว่ากายนี้ วัตถุธาตุนี้เป็นสิ่งดี จะนำมาซึ่งความสุขได้.... ก็มีความหวังว่าจะได้รับความสุขนั้นถาวร ....การแสวงหากายและวัตถุจึงเกิดขึ้น และเกิดการรวมตัวคือเป็นการผนวกระหว่างจิตและวัตถุธาตุ เป็นการรวมกันระหว่างของหยาบและของละเอียด..... จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่ากายขึ้นมา (จากการปฏิสนธิ- จุติ)  .....นามรูปจึงเป็นการรวมกันระว่างกายและจิตนั่นเอง

4.เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี

       สฬายตนะหมายถึงเครื่องติดต่อ สิ่งที่ทำให้เกิดการรับรู้ หรือ อายตนะภายใน6( อวัยวะในการรับรู้6อย่างคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  ) .....ในขณะที่อายตนะภายนอก6หมายสิ่งที่ทำให้เกิดการรับรู้ภายนอก6 อย่างคือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ )

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี แปลความหมายได้ว่า เมื่อเกิดนามรูปหรือการรวมตัวระหว่างกายและจิตขึ้นแล้ว เพื่อให้สามารถบรรลุ สามารถเสพวัตถุธาตุหรือกายอื่นๆที่เคยหลงไปว่าเป็นสิ่งที่นำพาความสุขมาได้ จึงแสวงหาช่องทางที่จะไปรับรู้ความสุขนั้น คือมีตาเพื่อเห็น มีหูเพื่อได้ยิน มีจมูกเพื่อสูดกลิ่น มีลิ้นเพื่อรับรู้รส มีกายประสาทเพื่อสัมผัส มีใจเพื่อรับรู้อารมณ์

5.เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี

       ผัสสะ หมายถึง การสัมผัสผ่านทางกาย วาจา ใจ เป็นการเชื่อมโยงกันระหว่าง3ส่วนคือ อายตนะภายใน6 อายตนะภายนอก6 และวิญญาน(ความรู้แจ้งในอารมณ์ จิตที่รองรับมาจากการนึกคิดปรุงแต่ง)

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี แปลความหมายได้ว่า เมื่อมีช่องทางการรับรู้หรืออวัยวะที่สามารถ เชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อมภายนอก การสัมผัสทางกาย วาจา และใจจึงเกิดขึ้น

6.เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

      เวทนา หมายถึงความรู้สึกสุขหรือทุกข์  แบ่งเป็น3อย่าง สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา(ความไม่สุขไม่ทุกข์).....หรือแบ่งละเอียดเป็น5อย่างสุข(สุขกาย) ทุกข์(ทุกข์กาย) โสมนัส(สุขใจ) โทมนัส(ทุกข์ใจ) อุเบกขา(เป็นกลาง )

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี แปลความได้ว่า การสัมผัสทางกาย วาจา ใจเกิดขึ้นจึงนำมามาซึ่งความรู้สึก สุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์นั่นเอง...

7.เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี

       ตัณหา หมายถึง ความทะยานอยาก แบ่งเป็น3อย่างคือ กามตัณหา (ความต้องการทะยานอยากในสัมผัสทั้ง5)  .....ภวตัณหา(ความต้องการทะยานอยากในการมี การเป็น การเห็น การพบ การเกิด การคงอยู่ตลอดไป)...... วิภวตัณหา (ความต้องการทะยานอยากในการทำลาย หรือการไม่อยากให้มี ให้เป็น ให้เห็น ให้พบ ให้คงอยู่)

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี แปลความหมายได้ว่า พอมีความรู้สึกเกิดขึ้น ความต้องการทะยานอยาก จึงตามมาทั้งทางการสัมผัส ความอยากมี อยากเป็น อยากให้คงอยู่ และไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากให้คงอยู่

8.เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปทานจึงมี

        อุปทาน หมายถึง การยึดมั่นถือมั่น การยึดติด แบ่งเป็น4อย่างคือ กามุปทาน(การยึดติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ) ... กามุปาทาน ( ความยึดติดในความนึกคิด ยึดติดในทฤษีต่างๆ .... สีลัพพตุปาทาน (ความยึดติดในศีลพรตโดยขาดปัญญา .... อัตตาวาทุปทาน( การยึดติดในความเป็นตัวแห่งตน การยึดติดในความเป็นของแห่งตน )

เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปทานจึงมี แปลความหมายได้ว่า เมื่อมีความต้องการทะยานอยากเกิดขึ้น การยึดมั่นถือมั่น ยึดติดทั้งการสัมผัส ความนึกคิด การปฏิบัติโดยขาดปัญญา ยึดติดในความเป้นตัวตน ความเป้นของแห่งตนจึงตามมา

9.เพราะอุปทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี

       ภพ ในความหมายที่ต่อเนื่องมาจากอุปทานก็คือภาวะจิตที่ยังบริโภคกามเป็นวิสัย คือจิตที่บริโภครูป รส กลิ่น เสียง อยู่

      แต่ความหมาย ของภพที่แท้จริงมี2อย่างคือ 1.หมายถึง สภาวะแห่งจิตในโลกียภพ แบ่งเป็น 3อย่างคือ กามภพ(สภาวะจิตที่บริโภครูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอยู่ หรือมนุษย์โลก ) ... รูปภพ (สภาวะจิตที่ยกระดับขึ้นจากกามภพ หมายถึงจิตที่เริ่มเข้าฌานหรือเกิดจากการเจริญสัมมาสมาธิ) ....อรูปภพ(สภาวะจิตที่สูงขึ้นไปอีก หมายถึงการที่พิจรณาฌานโดยอยู่บนความว่างเปล่า) .....  2.หมายถึง.ห้วงเวลาที่กายอยู่ เช่น ภพปัจจุบัน ภพอดีต ภพหน้า

เพราะอุปทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี แปลความหมายได้ว่า เพราะการยึดติด ยึดมั่นที่มีอยู่ ทำให้จิตยังคงอยู่ในภพแห่งการบริโภค รูป รส กลิ่น เสียง หรือกามภพนั่นเอง .....

โดยถ้าจะให้พ้นจากกามภพ ขึ้นเป็นรูปภพ และอรูปภพ จะต้องมีความยึดติด ยึดมั่น ถือมั่นน้อยลงซึ่งสามารถทำได้โดยการเจริญสัมมาสมาธิ หรือการเข้าฌานในทางชอบ แต่ก็ยังอยู่ในโลกียภพ ที่เป็นวงจรของปฏิจจสมุปบาทในส่วนของอวิชชาอยู่  .........  และหากพ้นจากระดับอรูปภพก็จะเข้าสู่โลกุตรภพซึ่งแบ่งออกเป็น4ระดับ โสดาบัน  สกทาคามี อนาคามี และอรหันต์ .....

10.เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี

        ชาติ หมายถึง การเกิด การปรากฏแห่งขันธ์5  การได้มาซึ่งอายตน (การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ )

        การเป็นมนุษย์นั้นได้มีการแบ่งไว้ เป็น 8ประเภทคือ 1. มนุสสมนุโส(มนุษย์ที่มีจิตเป็นมนุษย์ มีคุณธรรม มีกุศลจิต มีศีล5เป็นบาทฐาน .... 2. มนุสสติรัจฉาโน (มนุษย์ที่มีจิตใจเดรฉาน ไม่มีศีลธรรม).... 3. มนุสสเปโต ( มนุษย์ที่มีจิตใจเหมือนเปรต ละโมบ อยากได้ ไม่รู้จักพอ .... 4.มนุสสนิรยโก ( มนุษย์ที่มีจิตเหมือนสัตว์นรก ถูกกิเลสครอบงำ อาฆาตแค้นพยาบาท อยากแต่จะทำลาย) ......5,มนุสสวินิปาโต ( มนุษย์ที่มีจิตใจเหมือนอสูรกาย  มีความเห็นผิดทำนองคลองธรรม ยินดีในวัตถุกาม สิ่งปฏิกูล) .... 6.มนุสสเทโว ( มนุษย์ที่มีจิตใจเหมือนเทวดามีหิริ ความละอายต่อความชั่ว โอตปะ ความเกรงกลัวต่อบาป ..... 7. มนุสสรูปพรหม  ( มนุษย์ซึ่งมีจิตใจเหมือนพรหม ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม คือมีรูปฌานและพรหมวิหารธรรม ทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ) ..... 8. มนุสสอรูปพรหม ( คือนุษย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกามเป็นผุ้ประเสริฐด้วยความมีอรูปสมบัติ )

เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี แปลความหมายได้ว่า จากภาวะจิตที่ยังอยู่ในกามภพ บริโภครูป รส กลิ่น เสียง  จึงย้อนกลับมาปรากฏเป็นขันธ์5ใหม่คือ ร่างกายและจิตใจอันประกอบด้วยโลภ โกรธ หลง จึงยังมีอยู่  ซึ่งเป็นไปทั้งการเวียนว่ายตายเกิด และการหมุนเวียนภายในชีวิตที่ยังดำรงอยู่ ....

11.เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี

       ชรามรณะ หมายถึง ภาวะแห่งความแก่ ความทรุดโทรม ความตาย

       เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี หมายความว่า การปรากฏเป็นขันธ์5ที่ประกอบด้วยร่างกายและจิตใจนั่น สุดท้ายต้องมีความเสื่อมไป เกิดภาวะแห่งความแก่ ความทรุดโทรมและความตายในที่สุด

12.เพราะชรามรณะเป็นปัจจัย โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสะ จึงมี

     โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสะ หมายถึง ความโศก การคร่ำครวญร่ำไห้ ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ และความคับแค้นใจจึงเกิดขึ้น

เพราะชรามรณะเป็นปัจจัย โสกะ ปริเวทะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสะจึงมี แปลความหมายได้ว่า เมื่อมีการแก่ชราและการตาย ความทุกข์โศก คร่ำครวญ ความคับแค้นใจจึงเกิดขึ้น และเข้าสูวงจรของอวิชชาใหม่อีกครั้ง  ..... ซึ่งหากตอนตาย ไม่มีความทุกข์ โศก คับแค้นใจแล้ว นั่นคือ มีวิชชาก็จะหลุดพ้นจากวงจรปฏิจจสมุปบาทได้นั่นเอง

     สรุปได้ว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องของเหตุและผลของการเกิดทุกข์และดับทุกข์  ซึ่งการศึกษาปฏิจจสมุปบาทนั้นมี2สายคือสายเกิดทุกข์(อวิชชา) และสายดับทุกข์(มีสุข)  อันเกิดจากการมีวิชชา ซึ่งทางธรรมะหมายถึง ความรู้แจ้งในอริยสัจ4 ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท12 และปฏิจจสมุปปันนธรรม (ความเป็นเหตุเป็นผลของธรรมชาติ)












    
  
       

   

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ27.12.53

    สุดยอดครับ ขอขอบคุณและขออนุโมทนาในธรรมทานของแม่หมอในครั้งนี้ด้วยเทอญ สาธุ

    ตอบลบ

-