ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันพุธ

อริยสัจ 4


ธรรมะน่ารู้  part แรกเราก็จบเรื่องของธรรมะที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของโลกนี้ไปแล้ว3เรื่องคือ ไตรลักษณ์3 ปฏิจจสมุปบาท12 และขันธ์5 .....


วันนี้เรียนรู้ธรรมะไปกับแม่หมอ จะพาเพื่อนๆมาดูรายละเอียดในธรรมะหัวข้อ อริยสัจ 4 หรือ ความจริง 4 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และเป็นเนื้อหาในการปฐมเทศนาด้วยค่ะ  ซึ่งประกอบด้วยดังนี้ค่ะ



1. ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ

2. สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์

3. นิโรธ คือ สภาพการพ้นทุกข์

4. มรรค คือ แนวทางการดับทุกข์

กิจในอริยสัจ คือสิ่งที่ต้องทำต่ออริยสัจ 4 แต่ละข้อ มีดังนี้ค่ะ

1. ปริญญา - ทุกข์ ควรรู้  คือการทำความเข้าใจปัญหาหรือสภาวะที่เป็นทุกข์อย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหา รู้ว่าอะไรคือทุกข์ เกิดขึ้นอย่างไร

2. ปหานะ - สมุทัย ควรละ คือการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เป็นการแก้ปัญหาที่เหตุต้นตอ ให้ถูกจุด

3. สัจฉิกิริยา - นิโรธ ควรทำให้แจ้ง คือการเข้าถึงภาวะการดับทุกข์ หมายถึงภาวะที่ไร้ปัญหาซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหลัก

4. ภาวนา - มรรค ควรเจริญ คือการฝึกอบรมปฏิบัติตามทางเพื่อให้ถึงความดับแห่งทุกข์ หมายถึงวิธีการหรือทางที่จะนำไปสู่จุดหมายที่หลักนั่นเองค่ะ

เรามาดูรายละเอียดแต่ละหัวข้อของอริยสัจ4 กันเลยดีกว่าค่ะ

1.ทุกข์ ความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร

ความสุขและความทุกข์ของคนเรานั้นเกิดขึ้นที่2ส่วนคือ กายและที่ใจ มี ขันธ์ 5 เข้ามาเกี่ยวข้อง นะคะ

1,1 ทุกข์ทางกาย ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย )

1.2 ทุกข์ทางใจ

1.2.1 อัปปิยสัมปโยค เจอในสิ่งที่เกลียดเป็นทุกข์

1.2.2 ปิยวิปโยค พลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์

1.2.3 อิจฉิตาลาภ อยากเป็นอยากได้แล้วไม่ได้เป็นทุกข์

1.2.4อุปทานขันธ์ การยึดมั่นว่าเป็นของเราเป็นทุกข์

 ขันธ์5 คือส่วนประกอบของคน มี1.รูป คือ ส่วนประกอบของชีวิตเป็นร่างกาย รวมถึงพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกายด้วย ....2.เวทนา คือ ความรู้สึกของกายและใจ มี 3 อย่าง คือ ความรู้สึกสบายกายและสบายใจ เรียกว่า สุขเวทนา ความรู้สึกไม่สบายกายและสบายใจ เรียกว่า ทุกข์เวทนา ความรู้สึกที่ไม่เป็นสุขและไม่เป็นทุกข์ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา.....3.สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ในสิ่งต่างๆ  ที่เกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้สัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และนึกคิด.......... 4. สังขาร คือ การที่จิตของคนเราคิดปรุงแต่งไปในทางที่ดี ทางที่ชั่ว เป็นแรงจูงใจหรือกระตุ้นผลักดันให้คนเราทำกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง....5. วิญญาณ คือ การรับรู้อารมณ์ (ความรู้สึก)ของใจผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า อายตนะภายใน....... รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส การนึกคิดเรียกว่า อายตนะภายนอก เพราะฉะนั้นความทุกข์ก็จะเกี่ยวข้องกับขันธ์5 โดยมีอายตนะ เป็นจุดเชื่อมต่อ ตัวอย่างเช่น เรามองเห็นหรือได้ยินสิ่งที่ไม่ดี มีการจดจำ การปรุงแต่งขึ้นมา ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจหรือความทุกข์นั่นเองค่ะ


2.สมุทัย คือ ความจริงที่ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งความทุกข์

2.1 ตัณหา 3

2.1.1กามตัณหา ความรู้สึกไม่อยากอยู่เดียวดาย

2.1.2 ภวตัณหา ความรู้สึกอยากได้อยากมีอยากเป็น

2.1.3 วิภวตัณหา ความไม่อยากได้ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น


2.2 นิวรณ์ 5 กิเลสเป็นเครื่องกั้น เป็นเครื่องขัดขวาง การกระทำความดี คือได้แก่

2.2.1.กามฉันทะ คือ ความพอใจรักใคร่ในกามคุณ 5 มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

2.2.2ใพยาบาท คือ ความปองร้าย ความคิดอาฆาต

2.2.3.ถีนมิทธิะ คือ ความหดหู่ท้อแท้ใจความง่วงเหงาวนอน

2.2. 4.อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ

2.2. 5.วิจิกิจฉา คือ ความสงสัย ความลังเลใจ

2.3 สังโยชน์10 กิเลสที่พันธนาการจิตใจไว้กับความทุกข์ในสังสารวัฎ

1. สักกายทิฏฐิ - มีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของเรา มีความยึดมั่นถือมั่นในระดับหนึ่ง

2. วิจิกิจฉา - มีความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

3. สีลัพพตปรามาส - ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย

4. กามราคะ - มีความติดใจในกามคุณ

5. ปฏิฆะ - มีความกระทบกระทั่งในใจ

6. รูปราคะ - มีความติดใจในวัตถุหรือรูปฌาน

7. อรูปราคะ - มีความติดใจในอรูปฌานหรือความพอใจในนามธรรมทั้งหลาย

8. มานะ - มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหรือคุณสมบัติของตน

9. อุทธัจจะ - มีความฟุ้งซ่าน

10. อวิชชา - มีความไม่รู้จริง

2.4 อุปกิเลส16 อกุศลธรรมที่รบกวนจิตใจจนทำให้รับคุณธรรมได้ยาก เป็นสิ่งที่ทำจิตใจให้เศร้าหมองขุ่นมัว มี 16 อย่าง คือ

1. อภิชฌาวิสมโลภะ ละโมบ  

2. โทสะ คิดประทุษร้าย

 3. โกธะ ความโกรธ 

4. อุปนาหะ ความผูกโกรธ 

5. มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน

 6. ปลาสะ ความตีเสมอ

 7. อิสสา ความริษยา  

8. มัจฉริยะ ความตระหนี่  

9. มายา มารยา เจ้าเล่ห์  

10. สาเถยยะ ความโอ้อวด

 11. ถัมภะ ความหัวดื้อ  

12. สารัมภะ ความแข่งดี มุ่งแต่จะเอาชนะ  

13. มานะ ความถือตัว ทะนงตน

 14. อติมานะ ความดูหมิ่นเขา  

15. มทะ ความมัวเมา  

16. ปมาทะ ความประมาท

2.5 อนุสัย7 กิเลสละเอียดอ่อนในส่วนลึก ที่สะสมมาหลายภพหลายชาติ

1.กามราคะ ความกำหนัดในกาม ความอยากได้ติดใจในกาม  

2.ปฏิฆะ ความขัดใจ ความหงุดหงิดขัดเคือง คือ โทสะ   

 3.ทิฏฐิ ความเห็นผิด  

4.วิจิกิจฉา ความลังเล ความเคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย  

5.มานะ ความถือตัว  

6.ภวราคะ ความกำหนัดในภพ  

7.วิชชา ความไม่รู้จริง คือ โมหะ

2.6 อกุศลกรรมบถ 10 หมายถึง ทางแห่งความชั่ว หรือ กรรมชั่วอันเป็นทางไปสู่ความเสื่อมและความทุกข์ การทำความชั่ว แบ่งได้ 3 ทาง

1) การทำความชั่วทางกาย มี 3 ประการ

- ปาณาติบาต คือ การฆ่าสัตว์

- อทินนาทาน คือ การลักขโมยของผู้อื่น

- กาเมสุมิจฉาจาร คือ การประพฤติผิดในสามี ภรรยา บุตร ธิดาของผู้อื่น

2) การทำความชั่วทางวาจา มี 4 ประการ คือ

- มุสาวาท คือพูดเท็จ พูดสิ่งที่ไม่จริงโดยที่ตนรู้ว่าไม่จริง รวมถึงการพูดกำกวมเพื่อหลอกลวงผู้อื่น

- ปิสุณาวาจา คือ การพูดส่อเสียด พูดกระทบกระเทียบเหน็บแนม เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเจ็บใจ

- ผรุสาวาจา คือ การพูดคำหยาบ การพูดหยาบก่อให้เกิดความแตกร้าว ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่

- สัมผัปปลาปะ คือ การพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีสาระ ไม่มีประโยชน์แก่ใครไม่ว่าตนเองหรือผู้อื่น

3) การทำความชั่วทางใจ มี 3 ประการ คือ

- อภิชฌา คือ การคิดเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น แม้ยังมิดืทำ

- พยาบาท คือ การคิดร้ายต่อผู้อื่น อยากให้ผู้อื่นเจ็บปวด

- มิจฉาทิฐิ คือความเห็นผิดจากคลองธรรมเช่นไม่เชื่อว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว

2.7 อบายมุข 6 หมายถึง ทางแห่งความเสื่อม มี 6 ประการ 1)ติดสุราและของมึนเมา   2) ชอบเที่ยวกลางคืน    3) ชอบเที่ยวดูการละเล่น    4) ติดการพนัน    5) คบคนชั่วเป็นมิตร    6) เกียจคร้านการงาน  


3. นิโรธ คือ การดับทุกข์หรือดับปัญหา จุดหมายสูงสุด คือ นิพพาน

นิโรธ 5 ได้แก่


1.วิกขัมภนนิโรธ ดับด้วยข่มไว้ คือ การดับกิเลสของท่านผู้บำเพ็ญฌาน ถึงปฐมฌานขึ้นไป ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้ ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น

2.ตทังคนิโรธ ดับด้วยองค์นั้นๆ คือ ดับกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ หรือธรรมที่ตรงข้าม เช่น ดับสักกายทิฏฐิด้วยความรู้ที่กำหนดแยกรูปนามออกได้ เป็นการดับชั่วคราวในกรณีนั้นๆ

3.สมุจเฉทนิโรธ ดับด้วยตัดขาด คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นเด็ดขาด ด้วยโลกุตตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้น ชื่อ สมุจเฉทนิโรธ

4.ปฏิปัสสัทธินิโรธ ดับด้วยสงบระงับ คือ อาศัยโลกุตตรมรรค ดับกิเลสเด็ดขาดไปแล้ว บรรลุโลกุตตรผล กิเลสเป็นอันสงบระงับไปหมดแล้ว ไม่ต้องขวนขวายเพื่อดับอีก ในขณะแห่งผลนั้น ชื่อ ปฏิปัสสัทธินิโรธ

5.นิสสรณนิโรธ ดับด้วยสลัดออกได้ หรือดับด้วยปลอดโปร่งไป คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ดำรงอยู่ในภาวะที่ดับกิเลสแล้วนั้น ยั่งยืนตลอดไป ภาวะนั้นชื่อนิสสรณนิโรธ ได้แก่อมตธาตุ คือ นิพพาน

4. มรรค แนวทางการดับทุกข์   ซึ่งประกอบด้วย

1.สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึงเห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา


2.สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม

3.สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึงการพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม

4.สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง

5.สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน

6.สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม

7.สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ

8.สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลศ นิวรณ์อยู่เป็นปกติ
 
อริยสัจ4 ที่เรียนรู้ธรรมะไปกับแม่หมอ นำเสนอมาให้เพื่อนๆอ่านวันนี้ อาจสาระเยอะไปหน่อยนะคะ.... แต่หัวใจสำคัญของพุทธศาสนา ก็เรื่อง อริยสัจ4 นี่แหละคะ เพราะเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เป็นความจริงแท้4ประการ  ..... หากเข้าใจแต่เพียงผิวเผิน เราก็จะไม่รู้จักว่าทุกข์ สมุทัย นืโรธ มรรค คืออะไรนอกจาก definitionสั้นๆค่ะ..... เพื่อนๆลองทำความเข้าใจไปทีละหัวข้อนะคะ และลองกลับมาสำรวจเปรียบเทียบกับตัวเองดู แล้วจะค่อยๆเริ่มเข้าใจในความจริงทั้ง4ประการค่ะ

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ27.12.53

    สุดยอดจริงๆ ขอบคุณครับ สาธุ

    ตอบลบ

-