ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันอาทิตย์

สัปปุริสธรรม7

ธรรมะน่ารู้ วันนี้แม่หมอจะพาเพื่อนๆมารู้จักธรรมะในหัวข้อคุณสมบัติของคนดี7ประการ นั่นก็คือ สัปปุริสธรรม 7 อันเป็น ธรรมะของสัตบุรุษ  คุณสมบัติของคนดี นั่นเองค่ะ ...... เรามาดูกันนะคะว่าคุณสมบัติของคนดีมีอะไรกันบ้าง ประกอบด้วย7อย่างดังนี้ค่ะ .......



1ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ ( ธัมมัญญุตา)  คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ......  รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฏเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล.......  รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการหรือบรรลุจุดหมายอันนั้นๆ

2.ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือรู้จักผล (อัตถัญญุตา) คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์.........  รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำ หรือความเป็นไปตามหลักหลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร .......การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้าง

3.ความรู้จักตน (อัตตัญญุตา) คือ รู้จักตัวเรา ..... รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม  บัดนี้ เท่าไร อย่างไร ......... แล้วประพฤติให้เหมาะสมและรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป

4.ความรู้จักประมาณ ( มัตตัญญุตา) คือ ความพอดี......... เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์

5.ความรู้จักกาล ( กาลัญญุตา) คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม ......และระยะเวลาที่ควรหรือจะต้องใช้ในการประกอบกิจ ทำหน้าที่การงาน หรือ ปฏิบัติการต่างๆ......... ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลาให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา

6.ความรู้จักบริษัท (ปริสัญญุตา) คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม.......... รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น

7.ความรู้จักบุคคล ( ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา) คือ รู้ความแตกต่างแห่งบุคคล ...... ว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น.......  ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้จักจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่คบ จะใช้ จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น


นอกจากนี้แล้ว ในเสขปฏิปทาสูตรซึ่งบรรยายโดยพระอานนท์ ได้กล่าวถึง คุณสมบัติของผู้ที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ไว้ 7 ประการ ดังนี้ค่ะ

 
1.เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม.

2.เป็นผู้มีหิริ คือ ละอายกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก.

3.เป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก.

4.เป็นพหูสูต ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สั่งสมธรรมที่ได้สดับแล้ว ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมทั้งหลายเห็นปานนั้น อันท่านได้สดับมามาก ทรงจำไว้ได้ สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยความเห็น.

5.เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.

6.เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกได้ตามระลึกได้ แม้ซึ่งกิจการที่ทำไว้แล้วนาน แม้ซึ่งถ้อยคำที่พูดไว้แล้วนาน.

7.เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา อันเห็นความเกิดและความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

คุณสมบัติของผู้ที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ประการ นี้ เรียกว่า สัทธัมมสมันนาคโต บางทีก็เรียก สัปปุริสธรรม 7.........  และในจูฬปุณณมสูตร ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสบรรยาย ความแตกต่างระหว่าง สัตบุรุษและอสัตบุรุษ ทรงแสดงถึง สักษณะของผู้ประกอบด้วย ธรรมของสัตบุรุษ 8 ประการในพจนานุกรม พุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม เรียกธรรมของสัตบุรุษ 8 ประการ นี้ว่า สัปปุริสธรรม 8 ได้แก่


1.เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ คือ เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา (คือ สัทธัมมสมันนาคโต ดังกล่าวไปแล้ว นั่นเอง)

2.เป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษ คือ มีสมณพราหมณ์ชนิดที่มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมากมีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา เป็นมิตร เป็นสหาย

3.เป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษ คือ ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย

4.เป็นผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษ คือ ย่อมไม่รู้เพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย

5.เป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ คือ เป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากคำพูดส่อเสียด งดเว้นจากคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ

6.เป็นผู้มีการงานอย่างสัตบุรุษ คือ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร

7.เป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ คือ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่บูชาแล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่ว มีอยู่โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้า ให้แจ่มแจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกมีอยู่

8.ย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ คือ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ทำความอ่อนน้อมให้ทาน ให้ทานอย่างบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความเห็นว่ามีผล จึงให้ทาน

ธรรมะของสัตบุรุษ หรือธรรมะของคนดี ที่เรียกว่าสัปปุริสธรรม7 ก็มีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้แหละค่ะ ........ ซึ่งจะเริ่มจาก สัปปุริสธรรม7 รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้ชุมชน รู้บุคคล ........ และคุณสมบัติของผู้ประกอบสัปปุริสธรรมก็จะมี ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นพหูสูต มีความเพียร มีสติ มีปัญญา ........ ส่วนธรรมะของสัตบุรุษที่แตกความแตกต่างระหว่างสัตบุรุษและอสัตบุรุษก็จะมีอีก8ประการหรือที่บางครั้งเรียกว่าสัตตบุรุษ8 ก็จะมีเพิ่มเติมคือ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ เป็นผู้ภักพีต่อสัตบุรุษ เป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษ เป็นผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษ  เป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ เป็นผู้มีการงานอย่างสัตบุรุษ เป็นผู้มีความเห็นแบบสัตบุรุษ ย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ ...... พระพุทธเจ้าได้สอนธรรมะ ที่เป็นคุณสมบัติของคนดีไว้แล้ว .....เราลองมาสำรวจตัวเองกันดูกันหน่อยนะคะ ว่าเราจะปรับตัว และพัฒนาตัวเองอย่างไรให้มีคุณสมบัติตามสัปปุริสธรรม7ค่ะ ........
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

-