ฝึกสมาธิ ในเรียนรู้ธรรมะไปกับแม่หมอ วันนี้จะพาเพื่อนๆมารู้จักกับคำว่า อานาปานะสติค่ะ ......... อานาปานสติ ตามคำศัพท์ นะคะ มาจาก ........ อานะ (อัสสาสะ) ลมหายใจเข้า........ อาปานะ (ปัสสาสะ) ลมหายใจออก ..... อานะ +อาปานะ อานาปานะ สติ ความระลึก การกำหนดรู้ .........
อานาปานสติ ก็คือ การระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกในปัจจุบันแต่ละขณะ.นั่นเองค่ะ......... อานาปานสติ โดยพฤตินัย ถ้าเราระลึกถึงอะไรอยู่ ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็เรียกว่า อานาปานสติ ได้ทั้งนั้นเช่น ตัวลมหายใจก็ดี ความรู้สึกนึกคิดก็ดี อารมณ์ที่พอใจ ไม่พอใจ ดีใจ เสียใจ น้อยใจ หงุดหงิดกลัว โกรธ หรือ หัวข้อธรรมะข้อใดข้อหนึ่งที่นำมากำหนด กระทำไว้ในใจ ใคร่ครวญ พินิจ พิจารณาเห็นอยู่ในใจ ทุกครั้งที่หายใจเข้า หายใจออก ก็เรียกว่า อานาปานสติ......... กำหนดลมหายใจขณะวิ่งเพื่อสุขภาพ ฝึกโยคะ รำมวยจีน หรือ ยืน เดิน นั่งนอน ก็เรียกว่าอานาปานสติ .......... สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน สติปัฎฐาน ๔ เมื่อปฏิบัติตามหลักอานาปานสติสูตร ก็เรียกว่า อานาปานสติ ค่ะ......
อานาปานสติพระพุทธเจ้าเคยฝึกมาตั้งแต่7พรรษา ........ ในคัมภีร์พระไตรปิฎกเล่าว่า พระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ มีพระชนม์เพียง 7 พรรษาเท่านั้น ก็ได้เคยฝึกอานาปานสติสมาธิภาวนาด้วยพระองค์เองมาครั้งหนึ่งแล้ว.......... และก็ด้วยประสบการณ์คราวนี้เอง ที่ทำให้พระองค์ทรงหวนระลึกถึงว่า “น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้บรรลุภาวะพระนิพพาน” หลังจากที่ทรงทดลองฝึกวิธีการต่างๆ มาแล้วจากครูบาอาจารย์แทบทุกสำนัก........ แต่กลับทรงค้นพบว่า ไม่ใช่วิถีทางที่ทรงแสวงหาประสบการณ์ในวัยเยาว์คราวนั้นแท้ๆ ที่ทำให้พระองค์ทรงค้นพบอนุตรสัมมาโพธิญาณสำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ...... อานาปานสติสมาธิภาวนา เป็นภาวนาวิธีที่ทำให้พระพุทธเจ้าประสบความสำเร็จอันใหญ่หลวง จึงทรงยกย่องสมาธิวิธีข้อนี้เป็นอย่างมาก ...... ท่านพุทธทาสภิกขุเมื่อได้อ่านพบอานาปานสติสูตร ก็รู้สึกประทับใจเป็นอันมาก......... จึงได้อุทิศตนทุ่มเทศึกษาพระสูตรอย่างจริงจัง กระทั่งนำมาเขียนเป็นหนังสือ จัดตั้งวางเป็นแบบแผนแห่งการปฏิบัติขึ้นที่สำนักสวนโมกขพลาราม ซึ่งยังคงมีการสอนกันอยู่มาจนถึงบัดนี้ ทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ ...... การทำสมาธิภาวนาโดยวิธีอานาปานสติภาวนาแล้ว จะเป็นการปฏิบัติอย่างถึงที่สุดทั้งใน สมาธิ และทั้งในปัญญา เรียกว่ามันสมบูรณ์แบบอยู่ในตัว ถ้าจะพูดอย่างธรรมดาสามัญก็ว่า เป็นวิธีที่ได้เปรียบที่สุด.......
อานาปานสติสมาธิภาวนาเป็นทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานอยู่ในตัวเองพร้อมบริบูรณ์ ...... วิธีปฏิบัติก็ง่ายไม่ต้องใช้องค์ประกอบมากมายเลยค่ะ ....... อาศัยเพียงแต่การตามระลึกรู้ลมหายใจ (กาย) เวทนา จิต ธรรมอย่างรู้ตังทั่งพร้อมเท่านั้น......... หากผู้ใดปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าวนี้อย่างถูกต้องก็จะได้รับผลตั้งแต่ขั้นต่ำ คือ ความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันทันตาเห็น เกื้อกูลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต ส่งเสริมให้ศักยภาพทางจิตและปัญญา เข้มแข็ง เฉียบคม สุกสว่าง กระจ่างใส สดชื่น เบิกบาน ผ่อนคลาย สบายใจ ไร้ความตึงเครียด ......... และประโยชน์ขั้นสูงสุด คือ ทำให้หยั่งลงสู่สัจธรรรมระดับปรมัตถ์ กล่าวคือ ภาวะพระนิพพาน อันเป็นที่สิ้นสุดลงของความทุกข์บรรดามีทั้งมวล
อานาปานสติเป็นการเจริญสติด้วยการอาศัยการหายใจเข้าออก ........ ปกติการหายใจก็เป็นไปโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ต้องตั้งใจทำก็ได้ เราไม่ค่อยได้ระลึกถึงมันสักเท่าไหร่ในชีวิตประจำวัน........ เมื่อระลึกถึงและตั้งใจทำ การหายใจก็จะเป็นการกระทำหรือกรรมชนิดหนึ่ง ......... การเจริญสติจึงเรียกได้อีกอย่างว่ากรรมฐาน เพราะต้องอาศัยการกระทำหรือกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเครื่องมือ ซึ่งไม่เพียงแต่การหายใจเท่านั้น ยังมีการเจริญสติหรือกรรมฐานอย่างอื่นอีก
อานาปานสติมีข้อดีหลายอย่าง ......... โดยเฉพาะเรื่องสุขกายสบายใจหากทำบ่อยๆ และยังทำได้ง่าย ทำได้ทุกเวลาที่ต้องการ ลมหายใจไม่เคยเป็นพิษเป็นภัย ไม่ต้องซื้อหา ไม่ต้องแย่งกันหายใจเป็นที่วุ่นวาย ......... อานาปานสติสามารถต่อยอดการเจริญสมาธิในระดับฌานได้ แต่การเจริญสติที่ได้ประโยชน์อย่างเป็นขั้นตอนคือวิปัสสนา การทบทวนตนเองสี่หมวด คือ หมวดกาย เวทนา จิต หมวดธรรม หลังจากได้สมาธิพอประมาณ คือหลังจากที่สามารถติดตามลมหายเข้าออกได้ โดยไม่วอกแวกได้ค่ะ ซึ่งเป็นขั้นตอนดังนี้นะคะ
1 กายานุปัสสนา โดยอาศัยลมหายใจหรือการหายใจที่กำลังตั้งใจทำอยู่.......... จุดประสงค์คือให้รู้จักการมองเห็นกายในลักษณะแยกส่วน รู้จักการเห็นกายในแง่ที่เป็นสิ่งปรุงแต่ง มองเห็นลมหายใจว่าเป็นกายอย่างหนึ่ง ลม(กาย)ที่อยู่ภายใน ลม(กาย)ที่อยู่ภายนอก.......... ทั้งหมดนี้เหมือนกับคนที่กำลังสบายใจแล้วนั่งดูสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนั้นว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นั่งดูกายของตนเอง นั่งดูสิ่งที่เนื่องด้วยกาย เช่นการเคลื่อนไหวของกาย ในที่นี้คือการหายใจ นั่งดูการปรุงแต่งซึ่งกาย ......... ซึ่งลองปรุงดูว่า สามารถปรุงให้หยาบได้ ปรุงให้ละเอียดได้ ขั้นตอนสุดท้ายคือปรุงให้ละเอียดจะได้ความสุขกายสบายใจตามมา เป็นเวทนาชนิดหนึ่งซึ่งจะนำไปวิปัสสนาในขั้นตอนต่อไป
2 เวทนานุปัสสนา ความสุขกายสบายใจที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งการหายใจที่ละเอียดขึ้นเป็นเวทนาที่จะนำมาวิปัสสนากันต่อ ......... ให้รู้จักว่ามันเป็นเวทนาชนิดหนึ่งเท่านั้นเองในเวทนาที่ยังมีอีกหลายอย่าง ให้ดูว่ามันเป็นผลจากการปรุงแต่งนั่นคือผลจากการปรุงแต่งการหายใจ ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แล้วแล้วไปขุดมันออกมา ไม่ใช่สิ่งที่สะสมได้ เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน หลังจากออกจากสมาธิมันก็หายไป เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแค่ชั่วครู่ชั่วคราว อยากให้เกิดขึ้นก็กลับมาปั้นกันใหม่
3 จิตตานุปัสสนา หลังจากการฝึกวิปัสสนากายกับเวทนาซึ่งเป็นของหยาบ ของที่เห็นง่ายแล้ว ....... ก็ถึงเวลาที่จะมานั่งดูจิตตนเอง สังเกตการดำรงอยู่ของจิต และคุณภาพของจิต และสิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัวจากการปรุงแต่ง หรือจิตสดใสขึ้นจากการปรุงแต่งที่ละเอียดขึ้นหรือการลดการปรุงแต่งนั่นเอง ......... ในขั้นนี้ก็จะรู้จักจิตให้มากกว่าเดิม รู้จักคุณภาพของจิตที่อาจไม่เคยเห็นมาก่อน รู้จักการบริหารจัดการกับจิตตัวเอง
4 ธรรมานุปัสสนา หมวดนี้เป็นหมวดใหญ่ เกี่ยวกับธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับเรา เช่น ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น
อานาปานสติขั้นแรกเป็นระดับวิปัสสนา....... สมาธิที่เกิดขึ้นเป็นของแถมแต่ก็จำเป็นต้องใช้ จะได้ไม่วอกแวกเพื่อนำมาพิจารณาธรรม การต่อยอดของอานาปานสติเป็นสมาธิระดับสูงสามารถทำได้ ซึ่งจะได้นำไปกล่าวในสัมมาสมาธิต่อไป......... แต่ว่าไปแล้วการเจริญอานาปานสติบ่อยๆ การได้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของไตรลักษณ์ ก็เพียงพอที่จะมีความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อความหลอกลวงของธรรมชาติด้านนี้ เพื่อสลัดมันทิ้งเพื่อพบกับธรรมชาติแห่งความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง
อานาปานสติ มีอยู่ 16 คู่ คือ
1.หายใจเข้า-ออกยาวรู้
2.หายใจเข้า-ออกสั้นรู้ (ลมหายใจเริ่มละเอียดขึ้นเมื่อใจเป็นสมาธิ)
3.หายใจเข้า-ออกกำหนดกองลมทั้งปวง (จิตจะกำหนดแต่กองลมในกาย ถ้าบริกรรมคำใดอยู่ เช่น พุทโธ คำบริกรรมจะหายไปเอง)
4.หายใจเข้า-ออกเห็นกองลมทั้งปวงสงบก็รู้ (จับลมหายใจไม่ได้เหมือนลมหายใจหายไป)
5.หายใจเข้า-ออกปีติ เกิดก็รู้
6.หายใจเข้า-ออก สุขเกิดก็รู้
7.หายใจเข้า-ออก กำหนดจิตสังขาร (อารมณ์ต่างๆที่จรเข้ามาปรุงแต่งจิต เช่น รัก ราคะ โกรธ หลง) ทั้งปวง /ที่เหลือเพียงอารมณ์อุเบกขา (ถ้ากำหนดมาตามระดับ)
8.หายใจเข้า-ออก เห็นจิตสังขารสงบก็รู้ (ครูบาอาจรย์บางรูป วินิจฉัยว่า ช่วงนี้จิตจะไม่กำหนดสัญญา)
9.หายใจเข้า-ออก พิจารณาจิต (พิจารณาสภาวะรู้(วิญญาณขันธ์)/ว่าจิตพิจารณารู้ในอานาปานสติอยู่
10.หายใจเข้า-ออกจิตบันเทิง (มโน-สภาวะที่น้อมพิจารณาเพ่งอยู่/จิตยินดีในองค์ภาวนาคืออานาปานสติ) ก็รู้
11.หายใจเข้า-ออก จิตตั้งมั่น (ในอารมณ์ฌานของอานาปานสติ) ก็รู้
12.หายใจเข้า-ออกจิตเปลื้อง (ในอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตแห่งอานาปานสติ) ก็รู้
13.หายใจเข้า-ออก พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง (อนิจจัง ) ในขันธ์ทั้ง 5 (มีลมหายใจเป็นตัวแทนรูปขันธ์)
14.หายใจเข้า-ออก พิจารณาโดยไม่ปรุงแต่ง (การไม่ปรุงแต่งภายนอก หรือวิราคะคือการมีมานะให้ค่าตีราคาสรรพสิ่ง เช่น ต้นไม้ย่อมมีลักษณะเป็นไปตามธรรมชาติ เราตัดสินว่าต้นไม้นี่ลักษณะสวย ต้นไม้นี่ลักษณะไม่สวย)
15.หายใจเข้า-ออก พิจารณาโดยไม่ยึดติด (การไม่ยึดมั่นภายใน หรือนิโรธ เช่นมีคนนำขวดน้ำมาวางไว้ข้างหน้าเรา ให้เรา ต่อมามีคนคว้ามันไปกิน เราโกรธว่ากินน้ำเรา คือ ความยึดมั่นนั้นเพิ่งเกิด เมื่อเราไปยึดไว้)
16.หายใจเข้า-ออกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ (ปฏินิสสัคคายะ)
โดยได้มีการจัดให้ข้อ1-4เป็นกายานุปัสสนา..... ข้อ5-8เป็นเวทนานุปัสสนา ..... ข้อ9-12จัดเป็นจิตตานุปัสนา ....... ข้อ13-16จัดเป็นธรรมนุปัสสนา
เมื่อเจริญอานาปานสติตามข้อ1 สภาวะย่อมเป็นไปโดยลำดับจากข้อ 1 จนถึงข้อ12 จิตจะเป็นปฐมฌาณอันเกิดจากการเจริญสติ (เกิดสัมมสนญาณ) จะพบเห็นขันธ์ทั้งห้าที่หลงเหลืออยู่ในขณะขั้นเกิดดับได้ เมื่อขณะจิตเป็นฌาณ ซึ่งเหลือเพียง10สภาวะ ......... โดยที่ข้อ3-4เป็นรูปขันธ์ ......... ข้อ5-6เป็นเวทนาขันธ์ (มีเพียงปีติและสุข)...... ข้อ7-8เป็นสังขารขันธ์ ......... ข้อ9-10เป็นวิญญาณขันธ์........ ข้อ11-12เป็นสัญญาขันธ์ ........ เมื่อเห็นขันธ์ทั้งห้าตามตั้งแต่ข้อ1-12ย่อมเห็นขันธ์ห้า (อันมีลมหายใจเป็นตัวแทนแห่งรูปขันธ์) เกิดดับตลอดจนเห็นเป็นอนิจจัง ( ข้อ13หายใจเข้า-ออก พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ) โดยสมบูรณ์พิจารณาข้อ13ไปจนบรรลุข้อ14หายใจเข้า-ออก พิจารณาโดยไม่ปรุงแต่ง ,15พิจารณาโดยไม่ยึดติด ,16 หายใจเข้า-ออกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ.......
เมื่อสติสามารถเฝ้าอยู่กับลมหายใจได้ตลอดเวลามากเพียงใด ความมั่นคงภายในก็ยิ่งมากขึ้นเพียงนั้น....... ความยึดมั่นถือมั่นและความไขว่คว้าไล่ตะครุบหาสิ่งนั้นสิ่งนี้ อันก่อให้เกิดความร้อนรนแผดเผาอยู่ภายใน ก็จะค่อยๆลดลง จางคลาย ความเยือกเย็นผ่องใสภายในย่อมทวีมากขึ้น พร้อมกับความรู้สึกที่ว่า "ความเยือกเย็นผ่องใสที่เป็นอิสระอย่างนี้แหละคือ ที่พึ่งอันแท้จริง ก็ปรากฏขึ้น ............ ความรู้สึกมั่นคงหนักแน่นที่จะยืนอยู่ในหนทางแห่งธรรมก็ยิ่งชัดเจนและเด็ดเดี่ยวยิ่งขึ้น" กล่าวได้ว่า การปฏิบัติจิตตภาวนาด้วยวิธีอานาปานสติภาวนาอย่างจริงจังและสม่ำเสมอนี้ ส่งเสริมการพัฒนาจิตให้อยู่ในหนทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทาโดยอัตโนมัติค่ะ
การใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือในการฝึกสติให้เกิดขึ้นมีอยู่ และมั่นคงนั้น สามารถปฏิบัติได้ทุกขณะ ....... โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหรือมีกิจที่จะต้องกระทำอยู่ตลอดเวลาจะรู้สึกสะดวกมาก ถ้าใช้วิธีอานาปานสติภาวนา เพราะเครื่องมือนั้นมีอยู่กับตัวแล้ว จึงสามารถฝึกได้ทันทีโดยไม่ต้องจัดสถานที่หรือกำหนดเวลา เพียงแต่ให้มีศรัทธาที่จะฝึก มีกำลังใจที่จะกระทำด้วยความเพียรที่แน่วแน่มั่นคงไม่ท้อถอย ไม่ว่าจะนั่งรถ ลงเรือ ทำงาน หรือทำกิจอันใดอยู่ก็ตาม.......... กำหนดสติให้เฝ้าอยู่ที่ลมหายใจให้ได้ทุกขณะ จิตนั้นย่อมเต็มอยู่ด้วยสติและปัญญา มีทั้งความว่องไว แหลมคม และมั่นคง ไม่ว่าจะมีสิ่งใดมากระทบก็จะไม่ทำให้จิตหวั่นไหวหรือสั่นสะเทือนได้ กิจที่กระทำอยู่นั้นก็จะคงดำเนินไปได้ตามปกติ โดยไม่เกิดความขลุกขลักหรือเสียหาย พูดได้ว่า ทุกขณะ ทุกเวลา ใช้ประโยชน์ได้ทันท่วงที และเห็นผลในทันทีค่ะ
ทักทาย
แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่ะ
แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น