ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันพุธ

มรรค8



สวัสดีค่ะเพื่อนๆ .... ธรรมะน่ารู้วันนี้ แม่หมอขอนำเสนอมรรค8 แนวทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ หรือข้อสุดท้ายของอริยสัจ4ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั่นแหละค่ะ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) .... เรามาดูกันนะคะว่ามีรายละเอียดอย่างไร ทั้งแม่หมอขอนำบทความที่คุณพ่อแม่หมอ(ศ.นพ.วิทูร โอสถานนท์) เขียนอธิบายความไว้มาให้เพื่อนๆได้อ่านกันดังนี้ค่ะ


มรรคมีองค์๘ คือข้อปฏิบัติให้พ้นทุกข์ มีความสุขสงบ มี๘ข้อ  คือ เห็นแจ้งชอบ, ดำริชอบ, วาจาชอบ, ประพฤติชอบ, เลี้ยงชีพชอบ, เพียรพยายามชอบ, ตั้งสติชอบ และ เจริญสมาธิชอบ .......... มรรค๘องค์นี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นวงจร........ เห็นแจ้งชอบ,ดำริชอบเรียกรวมกันว่าปัญญาสิกขา  .......วาจาชอบ,ประพฤติชอบ,เลี้ยงชีพชอบเรียกรวมกันว่าศีลสิกขา......... เพียรพยายามชอบ,ตังสติชอบและเจริญสมาธิชอบเรียกรวมกันว่าจิตสิกขา ...... รวมเรียกกันสั้นๆว่า ศีล-สมาธิ-ปัญญา..........


มรรคมีองค์๘ องค์ที่๑ เห็นแจ้งชอบ (สัมมาทิฐิ) คือ ความเห็นแจ้งแทงตลอด(ความมีวิชชา) ..... ใน อริยสัจ๔ (ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค) ....... ไตรลักษณ์ (อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา) ......ปฏิจจสมุปบาท๑๒..... และ ปฏิจจสมุปปันนธรรม (ความเป็นเหตุ-ความเป็นผลของธรรมชาติ)...... ตลอดจนสามารถแยกแยะความผิด-ความถูก, ความชอบ-ไม่ชอบ, สมควร-ไม่สมควร, เหมาะสม-ไม่เหมาะสม ได้.....


มรรคมีองค์๘ องค์ที่๒ ดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) คือ ความดำริชอบ, เจตนาชอบจนเป็นจิตสำนึกอยู่ตลอดเวลา ให้ตนเองออกจากกาม, ไม่พยาบาท, ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ........ ให้ตนเองออกจากกาม คือ ไม่เพลิดเพลิน ชมเชย ยึดติดกับกามารมณ์ (รูปอารมณ์, เสียงอารมณ์, กลิ่นอารมณ์, รสอารมณ์, สัมผัสอารมณ์ ตลอดจนกาเมถุนอารมณ์) ทั้งปวง สงัดจากกามทั้งปวง มีกามสังวรณ์ .......... ไม่พยาบาท คือ ไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่แค้นใจ ไม่อาฆาต มีการให้อภัย มีอภัยทาน มีเมตตาธรรม มีกรุณาธรรม  ........ ไม่เบียตเบียนตนเองและผู้อื่น คือ ไม่เอาเปรียบ ไม่รังแก ไม่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น ดูแลตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นตามควร ....... การมีจิตสำนึกและปฏิบัติใน๓ประการนี้ตลอดเวลา แสดงว่าได้สอบผ่านมรรคข้อที่๒ ......


มรรคมีองค์๘ องค์ที๓ วาจาชอบ(สัมมาวาจา) คือพูดวาจาชอบ ละเว้นวาจาไม่ชอบ มี๔ประการคือ ....... ๑. พูดความจริง(สัจวาจา) ละเว้นพูดเท็จ(มุสาวาจา) ......... ๒. พูดสุภาพอ่อนหวาน(มธุรสวาจา) ละเว้นพูดหยาบคาย(ผรุสวาจา) .......๓. พูดจาเป็นที่ชื่นชมยินดี(ปิยะวาจา) ละเว้นพูดเยาะเย้ยถากถาง พูดไม่เข้าหูคน (ปิสุนายวาจา) .......๔. พูดสำรวม ตรงประเด็น ไม่เพ้อเจ้อ (สำรวมวาจา) ละเว้นพูดเพ้อเจ้อ พูดมากไร้สาระ พูดวกวนกลับไปกลับมา (สัปผัปปาปะวาจา) ............ การพูดทั้งหมดพูดปิยะวาจา ยากที่สุด จะพูดอย่างไรที่ตำหนิว่ากล่าวคนแล้วทำให้ผู้ที่ถูกตำหนิไม่โกรธ แต่กลับยินดีพอใจและขอบคุณ ต้องพินิจพิจจารณาคำพูด และ ท่วงทีกิริยาที่พูดให้ดี.....


มรรคมีองค์๘ องค์ที่๔ ประพฤติชอบ (สัมมากัมมันตะ) คือประพฤติปฏิบัติตนชอบทั้งกาย-วาจา-ใจ ............ ที่เรียกว่ามีศีลธรรม, มีศีลที่เป็นกุศล เช่น ศีล๕-ธรรม๕ (เบญจศีล-เบ็ญจธรรม), ศีลพรหมวิหาร๔ เป็นต้น ......... ศีล๕-ธรรม๕ คือ ๑. ศีล เว้นฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ธรรม มีความเมตตา กรุณา ...  ๒. ศีล ไม่ลักขโมย ธรรม ให้ทานและเลี้ยงชีพชอบ ... ๓. ศีล ไม่ประพฤติผิดทางเพศ ธรรม กามสังวรณ์, มีสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด จิตเข้มแข็ง(สมาธิ)  ... ๔. ศีล ไม่พูดเท็จ ธรรม มีสัจจะ  ... ๕. ศ๊ล ไม่เสพสุราเมรัยสิ่งเสพติด ธรรม มีสติสัมปชัญญะ, มีสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด จิตเข้มแข็ง(สมาธิ) ........ ศีลพรหมวิหาร๔ คือ ๑. เมตตา ประกอบด้วย เมตตากายกรรม, เมตตาวจีกรรม, เมตตามโนกรรม ... ๒. กรุณา ประกอบด้วย กรุณากายกรรม, กรุณาวจีกรรม, กรุณามโนกรรม ... ๓. มุทิตา ประกอบด้วย มุทิตากายกรรม, มุทิตาวจีกรรม, มุทิตามโนกรรม ...  ๔. อุเบกขา ประกอบด้วย อุเบกขากายกรรม, อุเบกขาวจีกรรม, อุเบกขามโนกรรม ........การปฏิบัติศีลที่เป็นกุศลธรรมต่างๆโดยบริบูรณ์ สามารถบรรลุมรรคผลจนเป็นพระอรหันต์ได้ เรื่องนี้อาจเข้าใจยากในเบื้องต้น แต่ถ้าได้ศึกษาอยู่เสมอก็จะเข้าใจไปเอง


มรรคมีองค์๘องค์ที่๕ เลี้ยงชีพชอบ(สัมมาอาชีวะ) คือ ประกอบอาชีพ, เลี้ยงชีพในทางชอบ ทรัพยสินเงินทองหามาได้ในทางชอบ ไม่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับของสังคม ไม่ฉ้อราชบังหลวง ไม่ทุจริตต่อหน้าที่ มีคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ มรรคข้อนี้เข้าใจง่าย ........ มรรคช้อที่๑. ปัญญาเห็นแจ้งชอบ ต้องศึกษาให้เห็นแจ้งใน๔เรื่องคือ อริยสัจ๔, ไตรลักษณ์, ปฏิจจสมุปบาท๑๒ และ ปฏิจจสมุปปันนธรรม ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาเป็นเดือนเพือให้รู้แจ้งแทงตลอดใน๔เรื่องนี้ จะสนทนาให้ฟังหลังจากจบมรรค๘แล้ว ...... มรรคข้อที่๖,๗ และ๘ แต่ละข้อต้องใช้เวลานานมากที่จะให้รู้แจ้งแทงตลอดและสัมฤทธิ์ผล จะกล่าวต่อไป ......


มรรคมีองค์๘องค์ที่๖ เพียรพยายามชอบ(สัมมาวายามะ) คือความเพียรพยายามที่จะ กำจัดความโลภ, โกรธ, หลง และอกุศลธรรมต่างๆ ที่เกิดในตนเอง ให้หมดไป และ เจริญกุศลธรรมให้เกิดขึ้นกับตนเอง ประกอบด้วยบทธรรมะ๒บท คือ เพียรชอบ๔ประการ และ เพียร๔ประการ ......... พระพุทธเจ้าสอนว่า "ท่านทั้งหลายจงเห็นความเกียจคร้านเป็นสิ่งน่ากลัว แต่จงเห็นความเพียรเป็นสิ่งปลอดภัย จงบำเพ็ญเพียรเถิด นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า"(พระไตรปิฎกเล่ม๓๒ ข้อที่๗๘) ......... เพียรชอบ๔ประการ (สัมมัปปธาน๔) คือ สร้างความพอใจ, เพียร, พยายาม, มีสมาธิ และมุ่งมั่น เพื่อ .... ๑.ป้องกันไม่ให้ โลภ,โกรธ,หลงและอกุศลธรรมต่างๆ ที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดกับตนเอง  ... ๒.ละ โลภ, โกรธ, หลงและอกุศลธรรมต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นกับตนเองแล้ว  ...  ๓.ทำให้ความไม่โลภ, ไม่โกรธ, ไม่หลง เกิดขึ้นกับตนเอง ....    ๔.ทำให้ตวามไม่โลภ, ไม่โกรธ, ไม่หลง ที่ได้เกิดขึ้นกับตนเองแล้ว มีความมั่นคงและเจริญเต็มที่ ......... เพียร๔ประการ (ปธาน๔) เป็นวิธีปฏิบัติความเพียรชอบ๔ คื ... ๑. สำรวมตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย และใจ (ความนึกคิด)   .... ๒. ไม่ยินดีในความนึกคิดในกามารมณ์ (รูปอารมณ์, เสียงอารมณ์,กลิ่นอารมณ์, รสอารมณ์,สัมผัสอารมณ์, กาเมถุนอารมณ์) ทั้งปวง, ในความพยาบาท, ในการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และในบาปอกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้วขึ้นอีก ทำให้กิเลสและอกุศลธรรมเหล่านี้หมดสิ้นไป  ...  ๓. เจริญธรรมะ ที่เรียกว่า โพชฌงค์๗ (สติ, ธัมมะวิจัย, วิริยะ,ปิติ, ปัสสัทธิ, สมาธิ, อุเบกขา) ซึ่งเป็นบทธรรมะ แห่งการตรัสรู้ ...   ๔. เพียรเจริญสมาธิและรักษาความทรงจำเกี่ยวกับความไม่น่าดูของร่างกายเมื่อตายไปแล้วเอาไว้ตลอดเวลา .........มรรคข้อที่๖นี้ ต้องเพียรศึกษาปฏิบัติอยู่เสมอเป้นเวลานานกว่าจะเข้าใจ เห็นแจ้งแทงตลอด และบรรลุผล เป็นเรื่องไม่ง่าย


มรรคมีองค์๘ องค์ที่๗ ตั้งสติพิจารณาชอบ(สัมมาสติ) คือ ตั้งสติพิจารณาเห็นสัจธรรม๔ประการ ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน๔ คือ ....๑.ตั้งสติพิจารณาเห็นกายในกาย (เห็นระบบกาย, เห็นสิ่งปรุงแต่งและผู้ปรุงแต่งกาย) ......... ๒.ตั้งสติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา (เห็นระบบเวทนา(ทุกข์,สุข,ไม่ทุกข์ไม่สุข), เห็นสิ่งปรุงแต่งและผู้ปรุงแต่งเวทนา) ....... ๓.ตั้งสติพิจารณาเห็นจิตในจิต (เห็นระบบจิต, เห็นสิ่งปรุงแต่งและผู้ปรุงแต่งจิต) ....... ๔.ตั้งสติพิจารณาเห็นธรรมในธรรม (เห็นระบบธรรม, เห็นสิ่งปรุงแต่งและผู้ปรุงแต่งธรรมะแห่งจิต ทั้งระบบกุศลธรรม, ระบบอกุศลธรรม และระบบอัพยากฤตธรรม) ......สติปัฏฐาน๔ มีรายละเอียดมาก เข้าใจยากในเบื้องต้น แต่ถ้าได้เพียรศึกษาปฏิบัติจะเข้าใจไปเอง เป็นทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ......... การเจริญสติปัฐาน๔โดยบริบูรณ์สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ต้องใช้เวลาหลายปี นอกจากสติปัฎฐานแล้ว ยังมี อานาปานสติ๑๖ ซึ่งเป็นสูตรย่อของสติปัฏฐาน๔ สติิปัฏฐาน๔ และอานาปานสติ๑๖เริ่มต้นด้วยการผูกสติไว้กับลมหายใจ ที่เรียกกันว่ากำหนดลมหายใจ คือ มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก, หายใจเข้านับหนึ่ง หายใจออกนับสอง, หายใจเข้าท่องพุทธ หายใจออกท่องโธ เป็นต้น ........


มรรคมีองค์๘ องค์ที่๘ เจริญสมาธิชอบ (สัมมาสมาธิ) คือ การเจริญสมาธิไปจนถึงสมาธิแน่วแน่ที่เรียกว่า ฌาน หรือเข้าฌาน หรือฌานสมาบัติ แล้วเจริญ จากฌานลำดับที่๑ไปถึงลำดับที่๔ .......การเข้าฌานและเจริญฌานจากลำดับที่๑ถึง๔ จะต้องเจริญธรรมะ๕บท คือ ......... ๑. กสินฌาน๘ คือ เพ่งอารมณ์ที่เหมาะสมกับตนเองเพื่อเข้าสู่ฌาน และตั้งอยู่ในฌานอย่างมั่นคง ......... ๒. อภิภายตนะ ปริตตฌาน๘ คือ เจริญฌานอันเป็นภูมิคุ้มกันตนเองจากกิเลสและอกุศลธรรม .......๓. วิโมกข์ฌาน๓ คือ เจริญฌานให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ด้วยความเห็นแจ้งแทงตลอดใน อนัตตา, อนิจจตา และทุกขตา กล่าวอีกอย่างหนึ่ง วิโมกข์ฌาน๓ คือ เจริญฌานเพื่อหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ด้วยความเห็นแจ้งในไตรลักษณ์และอริยสัจ๔ ........๔. พรหมวิหารฌาน๔ คือ เจริญฌานให้พรหมวิหาร๔(เมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา) อยู่ในจิตสำนึก .......๕. อสุภฌาน๑๐ คือ เจริญฌานพินิจพิจารณาซากศพสภาพต่างๆ ตั้งแต่เริ่มตาย เน่าเปื่อย ไปจนถึงเหลือแต่กระดูก ........การเจริญฌานจากลำดับที่๑ไปถึง๔ยังจะต้องเจริญฌานให้ผ่านพ้นจากเจตสิกของตนเองอีกด้วย ที่เรียกว่าฌาน๕ คือ วิตก, วิจาร. ปิติ, สุข, เอกัคคตา, อุเบกขา ........การเจริญสัมมาสมาธินี้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องศึกษาให้เห็นแจ้ง ต้องเพียรปฏิบัติอย่างจริงจังต่อเนื่อง แม้จะศึกษาปฏิบัติเป็น เวลาหลายปีแล้ว อาจยังไม่บรรลุมรรตผลก็ได้

ก็ครบ8องค์ของมรรค หรือแนวทางปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ตามแนวทางพุทธศาสนาแล้วนะคะ .... เพื่อนๆลองทำความเข้าใจและลองปรับใช้กับชีวิตดูนะคะ..... แล้วจะพบว่าทุกข์ที่เราเคยมีจะค่อยๆจางหายไปได้อย่างน่าอัศจรรย์เลยละค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

-