ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันพุธ

หลวงปู่เจี๊ยะ

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท

วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี



พระอริยเจ้าผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง  ........... หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พระอริยเจ้าผู้เด็ดเดี่ยวอาจหาญในสายกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต  ......... ท่านได้รับการยกย่องจากพระอาจารย์มั่นว่า  เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง จากอุปนิสัยของท่านเป็นคนตรงไปตรงมา มีปฏิปทายอมหักไม่ยอมงอ ท่านสละอวัยวะ ทรัพย์และชีวิตเพื่อธรรม.....  เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที จงรักภักดีต่อท่านพระอาจารย์มั่น ยิ่งกว่าชีวิต ท่านได้รับความไว้วางใจจากท่านพระอาจารย์มั่น ให้เดินทางไปเฝ้าอุปัฏฐากหลวงปู่เสาร์ ซึ่งอาพาธหนักถึงนครจำปาศักดิ์ประเทศลาว จนกระทั่งหลวงปู่เสาร์มรณภาพ ........


หลวงปู่เจี๊ยะ ประวัติ ปฏิปทา คติธรรม ของท่านอาจแตกต่างจากพระกรรมฐานรูปอื่นในแง่ปลีกย่อย .......... ท่านไม่กว้างขวางเรื่องปริยัติธรรมภายนอก รอบรู้เฉพาะเรื่องจิตตภาวนา อันเป็นธรรมภายใน ท่านปฏิบัติลำบากแต่รู้เร็ว คำสอนของท่านก็เป็นประเภทปัจเจกะ มุ่งเน้นทางด้านจิตใจเป็นส่วนใหญ่ประกอบกับท่านมีบารมีธรรมที่บ่มบำเพ็ญมาแต่ชาติปาง ก่อนเป็นสิ่งช่วยเกื้อหนุนอยู่อย่างลึกลับ การปฏิบัติของท่านจึงนับว่ารู้ธรรมเร็วในยุคปัจจุบัน .........  ท่านจึงเป็นแบบอย่างทางสงบแก่โลกที่ระงมปนเปื้อนไปด้วยกองทุกข์นานัปการ ท่านสอนให้พวกเรามองอะไร ไม่ควรมองแต่ด้านเดียว การมองอะไร ไม่เพียงใช้สายตาเป็นเครื่องตัดสินเท่านั้น แต่ต้องใช้แววตาคือ ปัญญา เพราะผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรมองข้ามปมคำสอน เพียงเพราะสายตาเท่านั้น ควรพิจารณาให้ถ้วนถี่ เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่สอ่งแสงสว่างแก่โลก ย่อมไม่ละเลยทั้งกอไผ่และภูผา .......  ท่านจึงเป็นผู้มีจิตอิสระมานานไม่เกี่ยวเกาะยึดติดพัวพันในบุคคล กาล สถานที่ การปฏิบัติของท่านมุ่งเน้นที่ผลการปฏิบัติมากกว่ารูปแบบแห่งการปฏิบัติ เพราะนี่เป็นนิสัยสะท้านโลกาและปฏิปทาที่เป็นปัจจัตตัง ยากที่ใครๆ จะเลียนแบบได้ ............ หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้กล่าวยกย่องชมเชยในคุณธรรมว่า พระอาจารย์เจี๊ยะ เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง เป็นเพชรน้ำหนึ่งที่หาได้โดยยากยิ่ง.......


หลวงปู่เจี๊ยะ เกิดเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙  ณ บ้านคลองน้ำเค็ม ตำบลคลองน้ำเค็ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นบุตรของนาย ซุ่นแฉ และ นางแฟ โพธิกิจ  มีนามเดิมว่าโอวเจี๊ยะ โพธิกิจ มีแผ่นปานดำที่หลังตั้งแต่กำเหนิด จึงได้ชื่อว่าโอวเจี๊ยะ แปลว่า หินดำ แต่ทางธรรมหมายถึงผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งดุจศิลาแลงไม่หวั่นไหวตามอารมณ์ต่างๆ ............ ในวัยหนุ่มทำมาค้าขายผลไม้ นิสัยออกจะติดทางนักเลง ต้นตระกูลเป็นคนตรงไปตรงมา เป็นคนจริงจังในหน้าที่การงาน ยอมหักแต่ไม่ยอมงอพูดจาโฮกฮากไม่กลัวคน ...ในสมัยที่ท่านยังเป็นฆราวาสนั้นท่านเป็นคนตรงไปตรงมา ยอมหักไม่ยอมงอ เมื่ออายุครบอุปสมบทได้ ๒ ปี ท่านก็มีความคิดจะบวชทดแทนคุณบุพการี และหวังว่าจะสึกออกมาแต่งงานกับคนรักที่ชื่อว่าแป้ง  ซึ่งก่อนจะบวชนั้นมีคนสบประมาทไว้ด้วย ว่าอาจอยู่ได้ไม่ครบพรรษา ........ ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ เวลา  ณ พัทธสีมาวัดจันทนาราม ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี  เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้ร่วมปฏิบัติธรรมจำพรรษากับท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ที่เสนาสนะป่าช้าผีดิบบ้านหนองบัว ปัจจุบันคือวัดทรายงาม จังหวัดจันทบุรี  .แม้หลวงปู่เจี๊ยะตั้งใจว่าบวชเพียงไม่นาน ก็จะสึกออกมาใช้ชีวิตฆราวาส แต่ก็ตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ ซึ่งปรากฏว่าท่านได้ซาบซึ้งในรสพระธรรมยิ่งนักจนที่สุดท่านก็ตัดสินใจว่าจะไม่ลาสิกขา ทั้งที่เดิมเคยสัญญากับคนรักว่าจะบวชเพียงพรรษาเดียว แล้วจะสึกไปแต่งงานด้วย  ......


หลวงปู่เจี๊ยะ ท่านปฏิบัติกรรมฐานด้วยอิริยาบถ ๓ คือ ยืนภาวนา เดินจงกรม นั่งสมาธิ แบบสละตาย ด้วยการตั้งสัจจะอธิษฐานว่า  ........... ข้าพเจ้าจะถือเนสัชชิ คือในเวลาค่ำคืนไม่นอนตลอดไตรมาส ด้วยพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ถ้าว่าแม้นข้าพเจ้าไม่ทำตามสัจจะนี้ ขอให้ข้าพเจ้าถูกฟ้าผ่าตาย แผ่นดินสูบตาย ไฟไหม้ตาย น้ำท่วมตาย แต่ถ้าหากว่าข้าพเจ้าปฏิบัติตามสัจจะที่ตั้งไว้ได้ ขอจงเป็นผู้เจริญงอกงามในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเทอญฯ


หลวงปู่เจี๊ยะ ในพรรษาที่ ๓ จิตของท่านเกิดรวมครั้งใหญ่ใต้ต้นกระบก ..........ด้วยการหยั่งสติปัญญาลงในกายานุปัสสนา หยั่งลงสู่ความจริงประจักษ์ใจ โลกสมมุติทั้งหลายไม่มีปรากฏขึ้นกับใจ ประหนึ่งว่าแผ่นดินแผ่นฟ้าละลายหมด เหลือแต่จิตดวงบริสุทธิ์เท่านั้น ........... ปลายปี พุทธศักราช ๒๔๘๒ ท่านได้กราบลาท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ และท่านพ่อลี ธมฺมธโร เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับสหธรรมิก คือท่านพระอาจารย์เฟื่อง โชติโก เพื่อนำธรรมที่รู้เห็นไปเล่าถวายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต  .......... เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เมื่อถึงเสนาสนะวัดร้างป่าแดง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ท่านพระอาจารย์มั่นทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าโดยตลอด จึงปูอาสนะนั่งรอท่าอยู่บนแคร่น้อยๆ เมื่อได้โอกาสอันสมควรจึงได้เล่าเรื่องภาวนาให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟังว่า ได้พิจารณากาย จนกระทั่งใจนี้มันขาดไปเลย ท่านพระอาจารย์มั่นนั่งฟังนิ่ง ยอมรับแบบอริยมุนี ไม่คัดค้านในสิ่งที่เล่าถวายแม้แต่น้อย ..... ต่อมาอีกไม่นานนัก ฟันของท่านพระอาจารย์มั่นหลุดแล้วท่านก็ยื่นให้ การที่ท่านมอบฟันให้นั้น หลวงปู่เจี๊ยะเล่าว่า ท่านคงรู้ได้ด้วยอนาคตังสญาณ ว่าเราจะมีวาสนาสร้างภูริทัตตเจดีย์บรรจุทันตธาตุถวายท่านเป็นแน่แท้ .........


หลวงปู่เจี๊ยะเป็นคนตรงไปตรงมา  การพูดจาเป็นดั่งคำโบราณท่านว่า "น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย " คือคำสอนของท่านเผ็ดร้อนเป็นความจริง ท่านไม่พูดเอาใจเรา แต่คำสอนนั้นเมื่อนำมาประพฤติปฏิบัติก็เกิดผลดีกับชีวิตจิตใจเราได้จริงๆ ......... น้ำร้อน คือคำพูดเผ็ดร้อนจริงจัง ปลาเป็น ปลาเป็นคือทำให้คนธรรมดากลายเป็นคนดีขึ้นมาได้  การพูดการสอนนี้จึงเรียกว่า น้ำร้อนปลาเป็น ...... น้ำเย็นคือคำพูดที่ฟังแล้วชุ่มฉ่ำเย็นใจสำหรับมนุษย์ที่ชอบความอ่อนหวานแต่แผงไปด้วยพิษร้าย เพราะไม่ใช่คำจริงเพื่อถึงความจริง คำพูดที่ดูดีแต่มีผลเสียตามมาภายหลัง   ปลาตายหมายถึง เป็นคนตายทั้งๆที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้สอนก็ตามจากคุณงามความดี ผู้ฟังก็ตายจากการได้รับสัจจะความจริงแห่งพระสัจธรรม การสอนแบบนี้เรียกว่า น้ำเย็นปลาตาย....

หลวงปู่เจี๊ยะ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๓-๒๔๘๕เป็นพระคิลานุปัฏฐาก และเป็นปัจฉาสมณะ  ...... เป็นประดุจเงาติดตามตัวท่านพระอาจารย์มั่นมาโดยตลอด เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นรับนิมนต์ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เดินธุดงค์จากทางภาคเหนือมายังภาคอีสาน พักจำพรรษาที่เสนาสนะป่าเป็นที่ทิ้งศพโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี ๒ พรรษา จึงธุดงค์จาริกต่อไปยังจังหวัดสกลนคร พักจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก ที่เสนาสนะป่าบ้านโคกนี้เอง .......ท่านพระอาจารย์มั่นได้กล่าวชมเชยในคุณธรรมและนิสัยวาสนาของหลวงปู่เจี๊ยะท่ามกลางหมู่่สงฆ์ว่า ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ท่านผู้นี้ปฏิบัติลำบากแต่รู้เร็ว ปฏิบัติเพียง ๓ ปี เท่ากับเราปฏิบัติภาวนามาเป็นเวลา ๒๒ ปีอันนี่อยู่ที่นิสัยวาสนาเพราะนิสัยวาสนาของคนมันต่างกัน .......หลวงปู่เจี๊ย เคยป่วยเป็นไข้มาลาเรียอย่างหนัก ในขณะที่ป่วยหนักนั้นท่านเล่าว่า จิตเป็นธรรมชาติที่อัศจรรย์ตลอดเวลา พิจารณาจนกระทั่งจิตมันดับหมด หยุดความคิดค้น จิตปล่อย วางสิ่งทั้งปวง คว่ำวัฏฏจักร วัฏฏจิต แหวกอวิชชา และโมหะอันเป็นประดุจตาข่าย กิเลสขาดสะบั้นออกจากใจ จิตมีอิสระอย่างสูงสุดเกินที่จะประมาณได้

หลวงปู่เจี๊ยะ ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชได้นิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสและร่วมสร้างวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี ............ ปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ คณะศรัทธาได้ถวายที่ดินบริเวณบ้านคลองสระ ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี แก่หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน หลวงตาได้นิมนต์ท่านมาอยู่เป็นเจ้าอาวาส และท่านได้สร้าง ?วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม? และอยู่จำพรรษามาโดยตลอด


หลวงปุ่เจี๊ย แม้ว่าท่านจะเป็นพระเถระผู้ใหญ่และได้สร้างวัดวาอารามใหญ่โตแล้ว......  ท่านก็ยังเที่ยวภาวนาตามป่าตามเขาท้องถ้ำและเงื้อมผา จนกระทั่งร่างกายเดินไม่ไหว ..... ท่านละขันธ์เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานด้วยความสงบและอาจหาญในธรรม ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เวลาประมาณ ๒๓.๕๕ น. สิริอายุรวม ๘๘ ปี ๒ เดือน ๑๗ วัน ๖๘ พรรษา


คำสอนหลวงปู่เจี๊ยะ

"ศีลเป็นเหตุ  สมาธิเป็นผล  ..... สมาธิเป็นเหตุ  ปัญญาเป็นผล ..... ปัญญาเห็นเหตุ  วิมุตติเป็นผล"


"ชีวิตนี้เป็นประดุจผ้าขี้ริ้ว เป็นเหมือนถังขยะ  ที่คอยเก็บอานิสงส์ของกรรมดีชั่ว แล้วก็ให้ผลแก่เราเป็นผู้เสวย ....... ถ้าเรานำชีวิตที่เราพิจารณาเห็นด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว น้อมพิจารณาให้เกิดธรรมะขึ้นภายในใจ ธรรมที่เกิดขึ้นภายในใจนั่นแหละจะเป็นเหมือนผ้าขี้ริ้วห่อทองขึ้นมาทันที ...........  เพราะร่างกายของคนนี้ไม่มีค่า มันมีค่าอยู่ที่หัวใจที่มีธรรม รูปธรรมทุกๆ อย่างจึงเป็นผ้าขี้ริ้ว....... นามธรรมคือหัวใจ ที่ฝึกปฏิบัติ จนได้เห็นธรรมตามความสามารถ นั่นแหละเป็นทอง คือธรรมสมบัติอันล้นค่า ปรากฏเด่นขึ้นมาเป็นสักขีพยาน..."




" เมื่อภาวนาจิตลงได้อย่างนั้นแล้ว สมบัติใดๆ ในโลกที่เขานิยมว่ามีค่ามาก จะเอามากองให้เท่าภูเขาเลากา ไม่ได้มีความหมายเลย ..... ธรรมสมบัติที่ปรากฏเมื่อคืนนี้ เป็นธรรมสมบัติเหนือรัตนะเงินทองโดยประการทั้งปวง  อัศจรรย์ในธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นที่ยิ่ง จิตไม่เกี่ยวเกาะด้วยกามคุณเลย"




" พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนไว้ถูกที่สุดว่า  ผู้ใดขยี้กามราคะ ตัณหา อันเป็นเหมือนเปือกตมได้  ขยี้หนามคือกามราคะ ตัณหาไปเสียได้ ผู้นั้นนับได้ว่าเป็นผู้หมดโมหะ  ไม่สะทกสะท้านในนินทา สรรเสริญ ทุกข์หรือสุข ถ้าใครปฏิบัติได้มันก็เป็นอย่างนั้น”


 
 
“...ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของประเสริฐเมื่อบุคคลผู้นั้น ได้ประสบอย่างนั้นแล้ว ใครจะมาบอกว่าสมาธิไม่มี เราจะเชื่อไหม เราก็ไม่เชื่อซิ เพราะมันเกิดขึ้นกับตัวเราเอง มันประจักษ์ ขาเราให้หลุดมันก็หลุดออกไป  กำหนดให้มันเปื่อย มันก็เปื่อยออกไปให้มันเป็นกระดูกมันก็เป็นกระดูก อยู่อย่างนั้น เอากลับเข้ามาตัวเราก็เข้ามาได้ แล้วทีนี้เอาหัวออกไปบ้างหัวก็หลุดออกไปอย่างนั้นนี่ นี่ลักษณะอย่างนี้ จึงเรียกว่าเป็นสมาธิ นี่ยังอยู่ในขั้นลักษณะของสมถะอยู่ ยังไม่ใช่วิปัสสนา


เมื่อเล่นอย่างนี้ จนชำนาญคล่องแคล่ว ลักษณะสมาธิอย่างนี้ เป็นสมาธิที่มีกำลังแข็งแรง กำลังที่มีความเด็ดเดี่ยวอย่างนี้ เมื่อถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็จำเป็นจะต้องใช้การค้นคว้าพินิจพิจารณา การค้นคว้าพิจารณาก็ต้องพิจารณากายนี่ หรือจะเอาอะไรอันหนึ่งมาพิจารณา


เมื่อเราจะพิจารณากายก็ตัดส่วนออกไป เป็นชิ้น ๆ ส่วน ๆ อย่างนั้น แต่บางทีถ้าสมาธิมันยังกล้าแข็งอยู่มาก อย่างนั้น ในลักษณะที่ตัดอย่างนั้น บางทีก็ยังมีส่วนที่ปรากฏเป็นปฏิภาคอยู่ แต่เราอย่าไปเสวยในขณะที่เป็นปฏิภาคอยู่ให้เริ่มพิจารณา ไปให้จิตมันเดินอยู่อย่างนั้น แล้วมันเดินอยู่อย่างนั้นแล้วปฏิภาคตัวนั้นจะดับ


เมื่อดับอย่างนั้น เราอย่าเข้าใจว่าสมาธิเสื่อม ลักษณะไม่ใช่สมาธิเสื่อม ลักษณะนั้นมันจะลักษณะของการเดินปัญญา ถ้าเดินปัญญาแล้วลักษณะของปฏิภาคจะไม่ปรากฏขึ้น เมื่อเดินมากเท่าไร จิตยิ่งไม่ไปไหน เราจะนึกสิ่งใดก็ได้สมความปรารถนา อย่างนั้นตลอดเวลา เป็นเวลาตั้งชั่วโมงสองชั่วโมง ก็พิจารณาได้อย่างนั้น


จิตเดินเฉพาะกายอยู่อย่างนั้น เดินขึ้นเดินลงเดินไปเบื้องซ้าย เดิน - เบื้องขวา ขึ้นจากเบื้องปลายเท้ามาถึงศีรษะเดินได้ตลอดตับไตไส้พุงทั่วไปหมดอย่างนั้น นี่ลักษณะนี้สติมันควบคุมอยู่ท่านเรียกว่าปัญญาเข้าไปพิจารณาเป็นอย่างนั้น


เมื่อถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว มันก็แจ้งชัด ถ้าเมื่อเราพิจารณาอย่างนั้นชั่วโมงหนึ่ง วางจิตลงไปให้มันเข้าไปสงบอย่างนั้น เป็นเวลาได้ชั่วโมงหนึ่งเต็มที่ไม่มีการปรุงไปไหนเลย นั่นใจอย่างนั้นแล้ว ถีนมิทธะก็ไม่มีเข้ามาครอบงำ จิตผ่องใสสว่างสะอาดหมดจดแจ่มใสชื่นเบาหมดอย่างนั้น


นี่สมาธิอย่างนี้เรียกว่าสมาธิสมควรแก่การงานที่เราจะต้องพิจารณาอย่างนั้น นี่สมาธิต้องเป็นอย่างนั้น พักตั้งสองชั่วโมงก็ได้เมื่อเรารู้พัก การพักอย่างนั้นเข้าไปเสวยความสุข มันไม่ใช่ทำงาน...”



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

-