ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันพฤหัสบดี

พระบารมีสิบ (ฝ่ายมหายาน)

ก่อนที่จะไปถึงตอนพระพุทธเจ้าแสดงธรรม .... ขอกล่าวย้อนไปทางด้านฝ่ายมหายานที่บอกไว้ว่า  ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมถึงภาวะสัมมาสัมโพธิเป็นพระพุทธเจ้าอันเป็นคุณสมบัติพิเศษของสิทธัตถะโคตมะ นั้น.....  ผู้ตรัสรู้จะต้องมีบารมีสิบ (ten perfectional) อันได้สั่งสมให้บริบูรณ์มาแต่กาลก่อน  ผู้บำเพ็ญบารมีได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ปฏิบัติตนตามโพธิสัตว์มรรค  ...... เมื่อมีจิตปราถนาความเป็นพุทธะ การเปลี่ยนเพศเป็นนักพรตไม่เป็นสิ่งที่จำเป็น เพียงตั้งใจมั่นกล่าวคำปฏิญญา อธิษฐานจิตใจ ทำงานเพื่อผู้อื่น แล้วทำจิตใจให้เปี่ยมด้วยเมตตาปราณีต่อสรรพสัตว์และมุ่งการปฏิบัติตรงไปตามปฏิญญานั้นก็พอแล้ว

คุณสมบัติที่จะพาไปสู่ภาวะการตรัสรู้คือการบำเพ็ญบารมี 6 หรือ 10 อันได้แก่ ทาน ศีล ขันคิ วิริยะ วิปัสสนา และปัญญา  เพิ่ม อุบาย ปณิธาน พละ และญานขึ้นมาอีก4 รวมเป็นทศบารมี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ทาน  การให้ปัน ทั้งส่วนร่างกายคือให้วัตถุ และส่วนจิตใจคือให้อภัยเป็นนิจ การสั่งสอนคนอื่น การร่วมยินดี และร่วมเสียใจก็นับว่าเป็นทานเช่นกัน

ศีล  ความประพฤติดี ตามหลักจุลศีล มัชฌิมศึล และมหาศีล มุ่งทำลายความชั่วในไตรทวาร ทำความดีเพื่อนำผลไปสู่ภพภูมิใหม่ ชึ่งเชื่อว่าการมุ่งทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นสำคัญกว่าการไม่ทำความชั่ว

ขันติ  มีความอดกลั้น ไม่มีโทสะ ไม่แสดงความหวั่นไหวไม่แสดงความตระหนกตกใจต่อเหตุการณ์และต่อผู้กระทำสิ่งใดโดยความโง่เขลาของเขาเอง เก็บความลำบากไว้ภายในไม่แสดงออก

วิริยะ  มีความเพียรพยายาม ละเสียซึ่งความอ่อนแอเกียจคร้าน ไม่หลงความเพลิดเพลินของโลก ทำใจให้เข้มแข็งเพื่อเอาชนะสุขสมบัติเหล่านั้น

วิปัสสนา  การบำเพ็ญญาน หรือบำเพ็ญวิปัสสนาเพื่อให้เกิดปัญญาอันบริสุทธิ์ มุ่งละเสียได้ซึ่งอัตตสมบัติและปรสมบัติ  ให้เห็นความเท่าเทียมกันระหว่างตนเองและบุคคลอื่น  เมื่อปัญญาบริสุทธิ์เกิดแล้ว อหังการและมมังการจะหมดไป เหลือแต่ความเป็นอันหนึ่งของธรรม

ปัญญา  ความรู้ในสิ่งที่ควรรู้อันเกิดจากการบำเพ็ญวิปัสสนาบารมีมาเป็นลำดับเพื่อพาไปสู่ความสำเร็จซึ่งต้องอาศัยบารมีทั้ง5 มาตั้งแต่ต้น

บารมีอีก4 ที่เพิ่มเติมเข้ามาตามนัยแห่งมหายานคือ


อุบาย  ได้แก่ความฉลาด และมีวิธีที่จะชักนำให้ผู้อื่นเห็นตาม  อุบายเป็นพระบารมีที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของพระโพธิสัตว์ที่สามารถชักนำสรรพสัตว์ให้เห็นตามธรรม ดำเนินตนไปสู่มรรคาแห่งนิพพานได้

ปณิธาน  ได้แก่บารมีที่พระโพธิสัตว์แสดงออกจากการตั้งปณิธานแรงกล้า เพื่อช่วยเหลือข้ามขนสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากวัฏฏสงสารไปสู่นิพพานและทรงปฏิบัติเพื่อความสุขแห่งสรรพสัตว์นั้นๆ

พละ คือพระบารมีที่แสดงถึงความเมตตาและความพยายามที่พระโพธิสัตว์ได้ทรงสั่งสอนให้เกิดขึ้นแล้ว และทรงบำเพ็ญเพื่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย

ญาน คือความรู้แจ้งสมบูรณ์ทุกอย่าง

ตามลักษณะพระบารมีเหล่านี้แสดงว่าพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งมั่นต่อความเป็นพุทธมีชีวิตอยู่ได้ด้วยพรหมวิหาร4 คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นอัปปมัญญา มุ่งหมายใฝ่หาความสุขให้แก่สัตว์อื่น ให้สรรพสัตว์อื่นไม่มีทุกข์ไม่มีภัยในที่สุด ..... ครั้นสั่งสมบารมีตามแบบพระโพธิสัตว์มาโดยลำดับให้บริบูรณ์แล้วจิตจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าภูมิ( stage) 10ดังนี้

1.ปมุทิตา หรือมุทิตา คือความร่วมยินดี จะต้องสลัดทิ้งซึ่งความไม่บริสุทธิ์จากดวงจิต อุทิศตนเพื่อสุขของผู้อื่น ต่อสรรพสัตว์ที่ได้ตั้งปณิธานไว้แล้ว โดยปราศจากความไหวหวั่น

2. วิมลา คือ ผู้ไม่มีความมัวหมอง เป็นผู้ละมิจฉาจริยาด้วยความเป็นผู้มีใจเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ไม่เลือกหน้า ผู้ใดทำความดีอย่าดูถูกความดีของเขา ผู้ใดทำความั่ว ช่วยให้เขาละซึ่งความชั่วนั้น

3.ปภาการี  คือผู้กระทำซึ่งความสว่าง  หรอประทานแสงสว่าง ทำตัวให้เหมือนกระจกเงา ปราศจากไฝฝ้าราคีจากปัญญาตน ใช้ปัญญาให้รอบรู้ถึงความเป็นจริงแห่งชีวิต ด้วยอนิจจลักษณะ(ความไม่คงที่) และอนัตตลักษณะ(ความไม่ใช่ตัวตน)

4. อจิสมติ หรืออัคคิสมติ คือผู้มีปัญญาสว่างดุจดวงไฟ สามารถกำหนดใจแปลงไปในมรรค8 กำหนดใจลงไปใสฌาน4 คือปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตฌาน

5. สุทุรชยา คือผู้เอาชนะได้โดยยากด้วยดี เป็นผู้ที่เข้าใจความสัมพันธ์ของธรรมชาติใดที่เป็นสันตติ และธรรมชาติใดที่เป็นความสิ้นสุด อันเป็นภาวะยากที่ใครจะชนะได้  การบำเพ็ญเพียรและเพ่งโดยวิปัสนาญานนั้นเป็นทางนำไปสู่พุทธิ  ปราศจากการเพ่งแล้วพุทธิจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และโดยอาศัยการเพ่งเพียรนี้ บุคคลจะเข้าถึงซึ่งสัจจะ อันเป็นมรรคพาไปสู่ความรอบรู้

6. อภิมุธี หรือ อภิมุขตา คือ  การกล้าเผชิญหน้า ไปสู่ความเป็นพระโพะสัตว์ในภูมินี้ หยั่งรู้การหมุนเวียนของสรรพสิ่ง รอบรู้เหตุและผล รู้ปฏิจจสมุปบาท12 ที่เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน

7.ทุรังคมา คือเป็นผู้ไปไกล ก้าวล่วงเสียซึ่งกาละอวกาศใดๆ เป็นอนันตภาพ แต่ยังคงภาวะแห่งนามและรูปอยู่เพื่อแผ่กรุณาต่อสัตว์ไม่เลือกหน้า ไม่มีเครื่องเศร้าหมองติดอยู่ในห้วงหทัย

8. อจลา คือผู้ไม่หวั่นไหว โยกโคลง ใจหนักแน่นไม่หวั่นไหว มุ่งกระทำสิ่งใดก็จะกระทำไม่แปรผัน มั่นคง สงบสงัด

9. สาธุมตี คือมีมติแตกฉานในปฏิสัมภิทาญาน ไม่เหน็ดเหนื่อย เผยแพร่ธรรมแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยความเที่ยงธรรม ไม่จำกัดชั้น เวลา สถานที่

10. ธรรมเมฆา คือ เป็นเมฆแห่งพระธรรม เปรียบเสมือนพระธรรมเท่าฟากฟ้า ซึ่งมีเมฆประดับอยู่เป็นนิจ มีจิตอิสระ ไม่ติดอยู่ในภูมิธรรมนามธรรมทั้งปวง จะติดอยู่ก็แต่สัทธรรม

พระโพธิสัตว์ผู้ถึงภูมินี้เท่ากับมีธรรมกาย คือพระธรรมของพระพุทธเจ้า ถึงขั้นสุดแห่งการบำเพ็ญเพียร ............ และพร้อมที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ที่เป็นเครื่องหมายของพระธรรมกายนั่นก็คือตัวพระธรรมของพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้าแล้วนั่นเอง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

-