ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันอังคาร

หลวงพ่อสด

พระมงคลเทพมุนี
(หลวงพ่อสด)

วัดปากน้ำ

หลวงพ่อสดเป็นองค์ปฐมบรมครูแห่งวิชชาธรรมกายในยุคปัจจุบัน .........  ท่านเกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2427 ณ บ้านสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โยมบิดาชื่อ เงิน โยมมารดาชื่อ สุดใจ หลวงพ่อสดเริ่มเรียนหนังสือกับพระภิกษุน้าชาย ที่วัดสองพี่น้อง แล้วย้ายมาอยู่ที่วัดบางปลา อำเภอบางเลน ในความปกครองของพระอาจารย์ทรัพย์จนสามารถอ่านออกเขียนได้ รวมทั้งภาษาขอมได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจึงกลับไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ


หลวงพ่อสดฝักใฝ่ในธรรมและตั้งใจแน่วแน่ว่าจะบวช.........  พอถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2449 ท่านจึงได้อุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง สุพรรณบุรี โดยมีพระอาจารย์ดี วัดประตูสาร เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปสมบทแล้วก็อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง 1 พรรษา แล้วย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม กทม. เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม โดยกลางคืนเรียนที่วัดพระเชตุพนฯ กลางวันไปเรียนที่สำนักวัดอรุณฯ วัดมหาธาตุฯ วัดสุทัศน์ วัดจักรวรรดิฯ ตามแต่โอกาสอำนวย จนมีความแตกฉานในภาษาบาลีคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นอย่างดี    เมื่อหลวงพ่อสดท่านได้ศึกษาคันถธุระจนเป็นที่พอใจแล้วท่านก็ได้ศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์อีกหลายท่านคือ พระมงคลทิพยมุนี วัดจักรวรรดิฯ กทม. พระอาจารย์ดี วัดประตูสาร สุพรรณบุรี พระอาจารย์โหน่ง วัดสองพี่น้อง สุพรรณบุรี พระอาจารย์เนียม วัดน้อย สุพรรณบุรี พระสังวรานุวงษ์ วัดราชสิทธาราม กทม. พระครูญาณวิรัติ วัดพระเชตุพนฯ กทม. พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ กทม. พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ กาญจนบุรี เป็นต้น
 
หลวงพ่อสดปฏิบัติได้วิปัสสนา .... วันหนึ่ง เมื่อท่านกลับจากบิณฑบาตแล้ว ท่านก็เข้าไปนั่งสมาธิเจริญภาวนาในพระอุโบสถ โดยตั้งใจว่าหากยังไม่ได้ยินเสียงกลองเพล จะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจดังนั้นแล้ว ก็หลับตาภาวนา "สัมมา อะระหัง" ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งความปวดเมื่อย และอาการเหน็บชาค่อยๆ เพิ่มทีละน้อยๆ และมากขึ้นจนมีความรู้สึกว่า กระดูกทุกชิ้นแทบจะระเบิดหลุดออกมาเป็นชิ้นๆ จนเกือบจะหมดความอดทน  "เอ...แต่ก่อนเราไม่เคยรู้สึกเช่นนี้เลย พอตั้งสัจจะลงไปว่า ถ้ากลองเพลไม่ดังจะไม่ลุกจากที่ เหตุใดมันจึงเพิ่มความกระวนกระวายใจมากมายอย่างนี้ ผิดกว่าครั้งก่อนๆ ที่นั่งภาวนา เมื่อไรหนอ กลองเพลจึงจะดังสักที" คิดไปจิตก็ยิ่งแกว่งและซัดส่ายมากขึ้น จนเกือบจะเลิกนั่งหลายครั้ง แต่เมื่อได้ ตั้งสัจจะไปแล้วท่านก็ทนนั่งต่อไป ในที่สุดใจก็ค่อยๆ สงบลงทีละน้อย แล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ในใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูก ความปวดเมื่อยหาย ไปไหนไม่ทราบ ในเวลาเดียวกันนั้นเสียงกลองเพลก็ดังขึ้น............ วันนั้นท่านมีความสุขตลอดทั้งวัน ดวงธรรมขั้นต้นซึ่งเป็นดวงใสก็ยังเห็นติดอยู่ตรงศูนย์กลางกายตลอดเวลา ในช่วงเย็น หลังจากได้ร่วมลงฟังพระปาฏิโมกข์กับเพื่อนภิกษุ ท่านได้เข้าไปในพระอุโบสถแล้วตั้งสัตยาธิษฐานว่า "แม้เลือดเนื้อจะ แห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที ถ้านั่งลงไปแล้ว ไม่บรรลุธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเห็น จะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่จนตลอดชีวิต"  ......... ท่านตั้งความปรารถนาแล้วก็เริ่มนั่งขัดสมาธิเข้าที่ภาวนา  ขณะที่ใจหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น ก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้นมาจากจุดกลางดวงนั้นว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" แต่ขณะที่เสียงนั้นดังแผ่วขึ้นมาในความรู้สึก ก็เห็นจุดเล็กๆ เรืองแสง สว่างวาบขึ้นมาจากกลางดวงนั้น เสมือนจุดศูนย์กลางของวงกลม จุดนั้นค่อยๆ ขยายขึ้นและโตเท่ากับดวงเดิม ดวงเก่าหายไป ท่านมองไปเรื่อยๆ ก็เห็นดวงใหม่ลอยขึ้นมาแทนที่ เหมือนน้ำพุที่พุ่งขึ้นมาแทนที่กันนั่นแหละ ต่างแต่ใสยิ่งขึ้นกว่าดวงเดิม ในที่สุดก็ เห็นกายต่างๆ ผุดซ้อนกันขึ้นมาจนถึงธรรมกาย เป็นพระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่า พระพุทธรูปบูชาองค์ใด

หลวงพ่อสดค้นพบวิชชาธรรมกาย ............ เป็นทางบรรลุธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบรรลุแล้ว เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ท่านจึงมาคำนึงว่า "คัมภีร์ โรจายํ ธรรมเป็นของลึกถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิด ถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าถึง ต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด ตรองดูเถิดท่านทั้งหลาย นี้เป็นของจริง หัวต่อมีเป็นอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้ ก็ไม่มีไม่เป็นเด็ดขาด"

หลวงพ่อสดได้ทุ่มเทชีวิตให้กับการปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาอย่างเต็มที่............. เพื่อค้นคว้าหาที่สุดแห่งธรรม ยิ่งค้นก็ยิ่งลึกซึ้งขึ้นไปทุกที ท่านปฏิบัติอยู่อย่างนี้อีกประมาณเดือนเศษ จนออกพรรษา เมื่อรับกฐินแล้ว ก็ลาเจ้าอาวาสวัดบางคูเวียงไปพักอยู่ที่วัดบางปลาม้า เพื่อไปสอนธรรมที่ท่านได้รู้ได้เห็นแล้ว ท่านสอนอยู่ประมาณ 4 เดือน มีพระภิกษุที่สามารถปฏิบัติธรรมตามอย่างท่านได้ 3 รูป คือ พระภิกษุสังวาลย์ พระภิกษุแบน และพระภิกษุอ่วม รวมทั้งคฤหัสถ์อีก 4 คน ..... จากนั้น ท่านได้แสดงพระธรรมเทศนา เนื่องจากท่านมีความสามารถในการเทศน์สอน จึงเป็นที่พอใจแก่ประชาชนมาก


หลวงพ่อสดในปีพ.ศ.2459 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส วัดปากน้ำภาษีเจริญ........... โดยฉันทานุมัติของคณะสงฆ์ ซึ่งมีพระวันรัต เผื่อน เป็นประธาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ และถาวรวัตถุในวัด ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพทรุดโทรมกึ่งวัดร้าง หลวงพ่อจึงได้เริ่มปรับปรุงวัดปากน้ำ จนเจริญรุ่งเรือง ทั้งในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นที่ศรัทธาของสาธุชนโดยทั่วไป


หลวงพ่อสด มรณภาพ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 สิริอายุได้ 75 ปี พรรษาที่ 53 ............ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านได้สร้างพระของขวัญเนื้อผง เพื่อแจกให้แก่ผู้มีจิตศรัทธา แต่พระของท่านนั้นจะต้องไปรับด้วยตัวเอง ใครไม่ไปรับกับมือหลวงพ่อก็เป็นอันว่าไม่ได้ มูลเหตุในการสร้างก็เนื่องจากมีผู้บริจาคเงินสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งมีมูลค่าถึง สองล้านห้าแสนเก้าหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยสิบบาทสามสิบเก้าสตางค์ ในขณะนั้นถือว่าเป็นเงินจำนวนมากทีเดียว เนื่องจากหลวงพ่อสดนั้นมีผู้ศรัทธาในตัวท่านมาก ท่านจึงได้สร้างพระเครื่อง พระผงของขวัญรุ่นแรกนี้แจกในปีพ.ศ.2493 จำนวน 84,000 องค์ พระรุ่นนี้สร้างครั้งแรกไม่ได้เคลือบชะแล็ก เมื่อมีผู้ได้รับไปและนำไปถูกน้ำเข้าพระก็ละลาย จึงได้ไปขอรับกับหลวงพ่อใหม่ เมื่อหลวงพ่อแจกพระที่สร้างในครั้งแรกไปได้ครึ่งหนึ่ง จึงให้สร้างพระขึ้นอีกโดยใช้แม่พิมพ์เดิมเนื้อหาเช่นเดิม แต่ได้เคลือบชะแล็กไว้เพื่อรักษาเนื้อพระ พระที่สร้างในครั้งแรกที่ยังเหลืออยู่ก็ให้เคลือบชะแล็กรวมกันกับพระที่สร้างในครั้งหลัง พระที่สร้างทั้งสองครั้งนี้จึงถือว่าเป็นพระรุ่นแรก ต่อมาเมื่อปีพ.ศ.2499 หลวงพ่อเริ่มอาพาธ หลวงพ่อได้สั่งให้สร้างพระอีกรุ่นหนึ่งคือพระรุ่นสาม พระของขวัญเนื้อผงของวัดปากน้ำที่สร้างทันหลวงพ่อจึงมีรุ่นหนึ่งกับรุ่นสามเท่านั้น
 
 
คำสอนหลวงพ่อสด


จิตของตัวที่เดิมอาบในลูกที่เกิดในอกของตนนั่นแหละ จำได้รสชาติใจนั้นแน่ เอาใจดวงนั้นแหละ เอาไปรักใคร่เข้าในบุคคลอื่นทุกคน เหมือนกับลูกของตน ให้มีรสมีชาติอย่างนั้น ถ้ามีรสมีชาติอย่างนั้นละ เมตตาพรหมวิหารของตนเองป็นแล้ว เมื่อเมตตาพรหมวิหรเป็นขึ้นเช่นนี้ แล้วอัศจรรย์นัก ไม่ใช่พอดีพอร้ายให้ใช้อย่างนี้ ใช้จิตของตนให้เอิบอาบ ถ้าว่าทำจิตไม่เป็น ก็แผ่ได้ยาก ไม่ใช่แผ่ได้ง่าย แต่ลูกของตนแผ่ได้ ลูกออกใหม่ ๆ น่ะ เอิบอาบ ซึมซาบ รักใคร่ ถนอมกล่อมเกลี้ยงบุตรของตนกระฉับกระเฉงแน่นแฟ้นเพียงใด ให้เอาจิตดวงนั้นแหละมาใช้เรียกว่า เมตตาพรหมวิหาร เอาไปใช้ในคนอื่นเข้าก็รักใคร่อย่างนั้นแหละ เมตตรารักใคร่อย่างนั้นแหละ เมตตารักใคร่อย่างบุตรน่ะ




พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บุคคลที่เข้าถึงแล้ว ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงพระพุทธเจ้า ก็ถึงตัวธรรมกาย ถึงตัวธรรมกายก็เหมือนถึงพระพุทธเจ้า ถึงธรรมกายได้ธรรมกาย ไปกับธรรมกายได้ ไปนรก สวรรค์ ไปนิพพานได้ ผู้เข้าถึงไตรสรณคมน์ ถึงพุทธรัตนเช่นนี้ละ ก็จะรู้จักคุณพุทธรัตนว่า ให้ความสุขแก่ตัวแค่ไหน บุคคลใดเข้าถึงแล้วก็ปราบปลื้มเอิบอิ่มตื้นเต็ม สบายอกสบายใจ เพราะพุทธรัตนบันดาลสุขให้แล้ว ส่งความสุขให้แล้ว ถึงว่าจะให้ความสุขเท่าไร มากน้อยเท่าไร ตามความปรารถนา สุขกายสบายใจ เรามีอายุยืนเจริญหนักเข้า มีอายุยืน ทำหนักเข้า ทำชำนาญหนักเข้า ในพุทธรัตนมีคุณเอนก เวลาเจ็บก็ไม่อาดูรไปตามกาย เวลาจะตาย ก็นั่งยิ้มสบายอกสบายใจ เห็นแล้วว่าละจากกายนี้ มันจะไปอยู่โน้น เห็นที่อยู่ มีความปรารถนา นี่คุณของพุทธรัตนพรรณาไม่ไหวนี้เรียกคุณพระพุทธเจ้า คือ ธรรมกาย



เราตั้งใจแบบเดียวกับพระพุทธเจ้า ท่านตั้งอย่างไร ท่านทำอย่างไร ท่านสอนอย่างไร ท่านก็สอนว่า ท่านสอนพวกเราให้อดใจ ให้อดทนคืออดใจ อดใจเวลาโลภหรืออภิชฌาเกิดขึ้น หยุดนิ่งเสีย รู้นี่รสชาติอภิชฌา อยากจะได้สมบัติของคนอื่นเป็นของ ๆ ตน อยากกว้างขวาง ใหญ่โตไปข้างหน้า ต้องหยุดเสีย อดทนหรืออดใจเสีย ประเดี๋ยวก็ดับไป ดับไปด้วยอะไร ด้วยความอดทน คืออดใจนั่นแหละ ความโกรธประทุษร้ายเกิดขึ้น นิ่งเสีย อดเสีย ไม่ให้คนได้ยิน ไม่ให้คนอื่นรู้กิริยาท่าทางทีเดียว ไม่แสดงกิริยามารยาทให้ทะเลิกทะลัก แปลกประหลาดอย่างผีเข้าทีเดียว ไม่รู้ทีเดียว นิ่งเสีย ประเดี๋ยวหนึ่ง ความโกรธประทุษร้ายหายไป ดับไป พยาบาทนั้นหายไป มิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้น มิจฉาทิฏฐินั้นแปลว่าเห็นผิดละ รู้อะไรไม่จริงสักอย่าง เลอะ ๆ เทอะ ๆ เกิดขึ้น หยุดเสีย ไม่ช้าประเดี๋ยวดับไป



นั่นแหละความโลภเกิดขึ้น อภิชฌาให้ดับไปได้ อภิชฌาเกิดขึ้นชั่วขณะ อดเสียให้ดับไปได้ ฆ่าอภิชฌาตายครั้งหนึ่ง นั่นเป็นนิพพานปัจจัยเชียว จะถึงพระนิพพานโดยตรงทีเดียว ความพยาบาทเกิดขึ้นให้ดับลงไปเสียได้ ไม่ให้ออก ไม่ให้ทะลุทะลวงออกมาทางกาย ทางวาจาให้ดับไปเสียทางใจนั่นดับไปได้คราวใด คราวนั้นได้ชื่อว่าเป็นนิพพานปัจจัยเชียวหนา สูงนัก กุศลนี้สูง จะบำเพ็ญกุศลอื่นสู้ไม่ได้ทีเดียว หยุดนิ่งเสีย ไม่ช้าเท่าไร ประเดี๋ยวเท่านั้น ความเห็นผิดดับไป นั่นเป็นนิพพานปัจจัยทีเดียว นี่ติดอยู่กับขอบนิพพานเชียวหนา



ถ้าให้ทาน ให้ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ของชอบไม่ให้ เก็บเสียซ่อนเสีย ของไม่ดีที่ไม่เสมอใจให้เสีย ให้อย่างนี้มันเลือกได้ ให้ของไม่ดีเป็นทาน เป็นทาสทาน จัดว่ายังเข้าไม่ถึงสหายทาน เป็นทาสทานแท้ ๆ เพราะเลือกให้ หากว่ามีมะม่วงสักสามใบตั้งขึ้น ก็จะให้ใบเล็กเท่านั้นแหละ เอามะม่วงสามใบเท่า ๆ กัน ก็จะให้ใบที่ไม่ชอบใจนั่นแหละ เอามะม่วงสามใบเสมอกัน ก็จะเลือกเอาอีกแหละ ลูกที่ไม่ชอบใจจึงให้ ลูกที่ชอบไม่ให้ หรือมันใกล้จะสุกแล้วไม่ให้ ให้ที่อ่อนไปอย่างนี้ อย่างนี้เป็นทาสทานไม่ใช่สหายทาน




ถ้าให้สหายทานจริงแล้ว ก็ตัวบริโภคใช้สอยอย่างไร อย่างนั้นเป็นสหายทาน ถ้าว่าสามีทานละก็ เลือกหัวกระเด็นให้ ถ้าเลือกหัวกระเด็นให้เช่นนี้ละก็เป็นสามีทาน ลักษณะโพธิสัตว์เจ้าให้ทานนะ ให้สามีทาน ให้สหายทานให้สามีทานทีเดียว ทาสทานไม่ให้ นี้เราสามัญสัตว์ ชอบให้แต่ของที่ไม่ประณีต ไม่เป็นของที่ชอบเนื้อเจริญใจละก็ให้มันเป็นทาสทานไป เสมอที่ตนใช้สอยมันก็เป็นสหายทานไป แต่ว่าพวกเราที่บัดนี้เป็นสามีทานอยู่ก็มี เช่นเลี้ยงพระสงฆ์องค์เจ้า ตบแต่งสูปพยัญชนะเกินกว่าบริโภคทุกวัน ๆ ที่เกินใช้สอย เช่นนี้เป็นสามีทานประณีตบรรจงแล้วจึงให้ อย่างนีเรียกว่าเป็นสามีทาน



แต่ว่าบารมีหนึ่ง ๆ กว่าจะได้เป็นบารมีนะ ไม่ใช่เป็นของง่าย ทานบารมีเต็มดวงนะ ดวงบุญที่เกิดจากการบำเพ็ญทานได้เป็นดวงบุญ ดวงบุญใหญ่โตเล็กเท่าไหร่ไม่ว่า สร้างไปเถอะ ทำไปเถอะ แล้วเอาดวงบุญนั้นมากลั่นเป็นบารมี ดวงบุญมากลั่นเป็นบารมีนะ บุญมีคืบหนึ่งเต็มเปี่ยมเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทีเดียว เอามากลั่นเป็นบารมีได้นิ้วเดียว เท่านั้นเองกลมรอบตัวเท่านั้นแหละ กลั่นไปอย่างนี้ทุกบารมีไปจนกว่าบารมีนั้นจะเต็มส่วน แล้วก็บารมีที่จะเป็นอุปบารมี เอาบารมีนั้นแหละ คืบหนึ่งเต็มส่วนเอามากลั่นเป็นอุปบารมีได้นิ้วเดียว แล้วเอาอุปบารมีนั้นแหละ คืบหนึ่งกลมรอบตัวเอามากลั่นเป็นปรมัตถบารมีได้นิ้วเดียว




ขั้นสมถะนี่ กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพหรม กายรูปพรหมละเอียด นี่มันขั้นสมถะ แต่รูปฌานเท่านั้น เลยไปไม่ได้ พอถึงกายธรรมมันขึ้นวิปัสสนา ตาพระพุทธเจ้าท่านก็เห็นเบญจขันธ์ทั้งห้าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แท้ ๆ เห็นจริง ๆ จัง ๆ อย่างนั้นละ เห็นแท้ทีเดียว เห็นชัด ๆ ไม่ได้เห็นด้วยตากายในภพ เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ด้วยญาณธรรมกาย เห็นอย่างนี้แหละเห็นด้วยตาของพระตถาคตเจ้า รู้ด้วยญาณของพระตถาคตเจ้า ธรรมกายนั้นเป็นตัวของพระตถาคตเจ้าทีเดียว ไม่ใช่อื่น เห็นชัดอย่างนี้นี่แหละ เห็นอย่างนี้แหละเขาเรียกวิปัสสนา เห็นเบญจขันธ์ห้าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา



เห็นเป็นอนิจจังน่ะเห็นอย่างไร เห็นตั้งแต่กายมนุษย์เกิด กายมนุษย์เกิดไม่อยู่ที่ เกิดไปเรื่อย ๆ เกิดริบ ๆ เหมือนไฟจุดอยู่ มีไส้ มีน้ำมัน มีตะเกียง จุดมันก็ลุกโพลง เราเข้าใจว่าไปดวงนั้นเป็นอย่างนั้นแหละ ไอ้กายมนุษย์มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ แต่ตาธรรมกายไม่เห็นอย่างนั้น เห็นไฟเก่าหมดไปไฟใหม่เดินเรื่อยขึ้นมา ไฟเก่าหมดไปไฟหม่เดินเรื่อยขึ้นมา แล้วก็เอามือคลำดูข้างบนก็รู้ ร้อนวูบ ๆ ๆ ไป อ้อไฟใหม่เกิดเรื่อย กายมนุษย์นี้ก็เช่นเดียวกัน ไอ้เก่าตายไปไอ้ใหม่เกิดเรื่อย หนุนไม่ได้หยุดเหมือนไฟ เหมือนดวงไฟอย่างนั้นแหละ ไม่ขาดสาย มันเกิดหนุนอย่างนั้น นั่นเห็นขนาดนั้น เห็นเกิด เห็นตายเรื่อย เกิดแล้วก็ตายไป เกิดแล้วก็ตายไป ไม่มีหยุดละ เหมือนกันหมดทั้งโลก เห็นทีเดียวว่ามีแต่เกิดกับดับ




ยงฺกิญจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งทั้งปวงมีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมมีความเกิดเสมอ สิ่งทั้งปวงมีเกิดเสมอ มีความดับเสมอ มีเกิดกับดับสองอย่างเท่ากันหมดทั้งสากลโลก เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ด้วยญาณธรรมกายจริง ๆ อย่างนี้ ทำเป็นวิปัสสนาเห็นจริงเห็นจังอย่างนี้ ฯ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

-