วัดอรัญญบรรพต ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
"อันสตินี้ สัมปชัญญะนี้ ก็สมมุติเป็นโชเฟอร์ ผู้กำพวงมาลัยได้แผ้มีสติคอยระมัดระวัง การ วาจา จิต อยู่เสมอๆ".... คำสอนนี้เป็นของหลวงปู่เหรียญ พระเกจิอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สายวัดป่าพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ...........หลวงปู่เหรียญ ชื่อเดิม นายเหรียญ ใจขาน เกิดวันที่ 8 มกราคม2455 ที่ ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ครอบครัวมีอาชีพทำนา ทำสวนและเลี้ยงสัตว์ ....... เมื่ออายุ 10 ขวบ มารดาท่านได้เสียชีวิตลง ไม่นานบิดาท่านมีภรรยาใหม่ หลวงปู่จึงได้ไปอยู่อาศัยกับยายจนอายุได้ 13 ปี เรียนหนังสือจบ ก็ได้ย้ายไปอยู่กับบิดา ช่วยบิดาและมารดา ทำงานร่วมกับพี่น้อง อย่างขยันขันแข็ง
หลวงปู่เหรียญ เมื่ออายุได้ 20ปี มีความปรารถนาจะออกบวช โดยพิจารณาเห็นว่าชีวิตนี้เกิดมาแล้ว ทำงานไม่รู้จักจบจักสิ้น ตายแล้วก็ไม่ได้อะไรติดตัวไป................ โลกนี้มีทั้งสุขและทุกข์ แต่ความสุขที่ว่านี้เป็นความสุขชั่วคราวที่ไม่ยั่งยืน มันเป็นเพียงเหยื่อล่อให้คนเราติดอยู่ในทุกข์เท่านั้น คนเราเกิดมาแล้วที่สุดก็ต้องตายด้วยกันทุกคน ร่างกายนี้เมื่อจิตละไปแล้ว ก็ต้องแตกสลายออกจากกัน ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย เมื่อพิจารณาดังนี้แล้ว ท่านจึงไปขออนุญาตบิดาและมารดาเพื่อขอลาบวช ............. เมื่อโยมพ่ออนุญาตท่านก็ได้ออกบวชเมื่อเดือนมกราคม 2475 ณ อุโบสถวัดบ้านหงษ์ทอง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย สังกัด ธรรมยุติกนิกาย
หลวงปู่เหรียญเมื่อบวชแล้วจึงกลับมาอยู่วัดโพธิ์ชัย บ้านหม้อ โดยท่านอาจารย์วัดโพธิ์ สอนให้ท่านภาวนาอนุสติ 10 ท่านก็ได้ท่องเอา แล้วบริกรรมไปเรื่อยๆ......... ตั้งแต่พุทธานุสติ ธรรมานุสติ ไปจนถึงอุปสมานุสติแล้วจึงตั้งใหม่............ครั้นถึงเดือนพฤษภาคม ปีนั้น ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่ วัดศรีสุมัง ท่านจึงได้เข้าไปเรียนถามวิธีเจริญภาวนา กับท่านอาจารย์บุญจันทร์ รองเจ้าอาวาส ซึ่งได้รับคำสอนให้เลือกเอากรรมฐานบทใดบทหนึ่ง ที่ถูกกับนิสัยของตน บริกรรมเฉพาะบทเดียวเท่านั้น พร้อมกับแนะนำให้บริกรรมพุทโธเป็นอารมณ์ ท่านจึงได้บริกรรมพุทโธมาตั้งแต่นั้น
หลวงปู่เหรียญสนใจในเรื่องกายานุปัสสนา ซึ่งในหนังสือของพระอาจารย์สิงห์ที่บิดาของท่านได้นำมาถวายได้แนะนำให้พิจารณากายแยกย่อยไปเป็นส่วนต่างๆให้สติได้รู้ว่า ร่างกายนี้ไม่ได้มีอะไรเป็นของตนสักอย่างเดียว............... เมื่อท่านพิจารณาได้ดังนี้จึงมีดำริจะออกไปอยู่ในป่า แต่ก็ยังไม่อาจตัดสินใจได้เพราะใจหนึ่งอยากสึกไปครองเรือน แต่อีกใจหนึ่ง อยากออกปฏิบัติธรรมตามที่ตั้งใจไว้ ท่านจึงได้นั่งสมาธิตัดสินใจ แล้วก็ได้คำตอบว่าไม่สึกถึง ๓ ครั้ง ซึ่งไม่นานท่านจึงได้ออกจากวัดไปอยู่ป่าที่ ผาชัน ริมฝั่งแม่น้ำโขง พร้อมกับศึกษาต่อกับท่านอาจารย์กู่ ธัมมทินโน .......... หลวงปุ่เหรียญ ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการเจริญสมถะและวิปัสสนาของ พระอาจารย์สิงห์ เรื่อง สติปัฏฐาน4 โดยเฉพาะเรื่องกายานุปัสสนา ให้พิจารณาร่างกายเพ่งดูแยกออกเป็นส่วนๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตลอดจนอาการ 32 แล้วให้ถามตัวเองว่า ตัวตน อยู่ที่ไหน แท้จริงก็ไม่มี เมื่อไฟเผาแลัว ย่อมเหลือแต่เถ้ากระดูก ............... กำหนดเอากระดูกใส่ครกบดให้ละเอียดแล้วซัดไปตามลมพัดหายก็ไม่เหลืออะไร ร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นของตนสักอย่างเดียว มีแต่เกิดแล้วดับไปดังปรากฏ ............. แล้วใครเป็นผู้รู้ว่าร่างกายเป็นอย่างนั้น ก็จิตนี้เป็นผู้รู้ เมื่อสติกลับมา รู้จิต จิตก็รวมลงเป็นหนึ่ง แสดงว่า จิตปล่อยวางร่างกายได้ตามสภาพ จึงประคองจิตให้สงบอยู่ต่อไปนานเท่าที่จะอยู่นานได้ ในขณะนั้นจะมีความรู้สึกว่า กายก็เบา จิตก็เบา คิดจะไปอยู่ป่า พอดำริจะไปอยู่ป่าเท่านั้น มาร คือ กิเลส ก็แสดงอาการขัดขวาง เกิดความรู้สึกนึกคิดเป็นสองทาง ใจหนึ่งอยากสึกออกไปครองเรือน ใจหนึ่งอยากออกปฏิบัติเจริญสมถะวิปัสสนาตามที่ตั้งใจไว้ วันแล้ววันเล่ายังตัดสินใจไม่ได้ จึงลองอดข้าวหนึ่งวัน พอตกค่ำเวลาประมาณสามทุ่ม ก็ห่มผ้าสังฆาฎิแล้วทำวัตร อธิษฐานจิตว่า บัดนี้ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิภาวนาเพื่อพิจารณาตัดสินใจลงทางใด ทางหนึ่งให้ได้ ถ้าตัดสินใจไม่ได้จะไม่ลุกออกจากที่นั่งนี้เลย ภายหลังได้ตัดสินใจประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
หลวงปู่เหรียญ เมื่อปีพ.ศ. 2476 จำพรรษาวัดป่าสาระวารี บ้านค้อ อำเภอผือ อุดรธานี เป็นที่ซึ่งพระอาจารย์มั่นเคยจำพรรษา ...........ได้ตั้งใจทำความเพียรสงบใจมาก แต่วิปัสสนายังไม่แกกล้า ได้แต่สมถะ ออกพรรษาแล้วจึงธุดงค์ไปจังหวัดเลย พักวิเวกอยู่ถ้ำผาปู่ และ ถ้ำผาบิ้ง ได้ความสงบสงัดมาก ........... พ.ศ. 2477 พรรษาสอง จำพรรษาวัดอรัญญวาสี อำเภอท่าบ่อ หนองคาย มีพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน เป็นหัวหน้า ตั้งใจไม่นอนกลางวัน ค่ำลงทำความเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิ ถึงตีสอง แล้วลุกขึ้นทำความเพียรจนสว่าง ........... พ.ศ. 2479-2480 พรรษาสี่และห้า ท่านได้มาจำพรรษาที่วัดอรัญญบรรพต ทำภาวนาจิตสงบแล้วพิจารณาขันธ์ห้าเป็นอารมณ์ เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาตามสภาพความเป็นจริง แล้วปล่อยวาง จิตสงบพร้อมกับความรู้เป็นอย่างดี คล้ายหมดกิเเลส แต่ต่อมามีเรื่องต่างๆ มากระทบ ก็รู้สึกจิดผิดปกติ หวั่นไหวไป ตามอารมณ์นั้นๆ อยู่บ้าง แต่ไม่รุนแรง ก็แสดงว่ากิเลสยังไม่หมดสิ้น พยายามแก้ก็ไม่ตก นึกในใจว่าใครหนอจะช่วยแก้จิตให้ได้ จึงนึกไปถึงกิตติศัพท์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต จึงชวนภิกษุรูปหนึ่งลงเรือจากหลวงพระบางขึ้นไปทางอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เดินทางไปหาท่าน
หลวงปู่เหรียญ เมื่อปีพ.ศ. 2481 ได้พบท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่................... โดยความเมตตาของหลวงตาเกต ซึ่งเป็นสัทธิ วิหาริก ของท่าน ได้พาไปพบที่ป่าละเมาะใกล้ๆ โรงเรียนแม่โจ้ อำเภอสันทราย ได้เห็นด้วยความอัศจรรย์ใจเพราะตรงกับในนิมิตทุกประการ ท่านได้แนะนำว่านักภาวนา พากันติดสุขจากสมาธิจึงไม่พิจารณาค้นคว้าหาความจริงของชีวิตกัน............ ท่านซักรูปเปรียญให้ฟังว่า ธรรมดาเขาทำนาทำสวน เขาไม่ได้ทำใส่บนอากาศแลย เขาทำใส่บนพี้นดินจึงได้ผล ฉันใด โยคาวจรผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายควร พิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์ จนเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในนามรูป ด้วยอำนาจแห่งปัญญานั้นแหละจึงจะเป็นทางหลุดพ้นได้ ไม่ควรติดอยู่ในความสงบโดยส่วนเดียว............... เมื่อท่านให้โอวาทแล้วจึงพิจารณาดูตังเองว่าได้เจริญเพียงสมถะไม่ได้เจริญ วิปัสสนาเพียงรู้แจ้งในธรรมที่ควรรู้ คือ อริยสัจสึ่ จึงเจริญวิปัสสนาเรื่อยมา ตั้งแต่พรรษาที่ 6 อยู่ในเขตภาคเหนือจนถึงพรรษาที่ 16 แล้วเดินทางกลับธุดงค์ ผ่านหลวงพระบาง ประเทศลาว เข้าเวียงจันทน์ มายังหนองคาย
หลวงปุ่เหรียญ พรรษาที่ 19 ถึง 26 จำพรรษาเผยแพร่ธรรมะปฏิบัติอยู่ภาคใต้ แล้วจึงย้ายไปอยู่วัดอรัญญบรรพต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 เรื่อยมา.......... หลวงปู่ได้ละสังขาร เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2548 สิริอายุ 93 ปี พรรษา 73
คำสอนหลวงปู่เหรียญู
" " ถ้าจิตสงบมีกำลังพักผ่อนเต็มที่แล้ว มันก็จะอยากรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ควรรู้ ต้องกำหนดหาเรื่องที่ควรจะรู้ สิ่งใดที่เรายังไม่รู้ก็ต้องกำหนดพิจารณา เช่น กำหนดพิจารณาทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์ก็เบื่อในทุกข์ของขันธ์5 อันไม่เที่ยงแปรปรวน อาการหวั่นไหวกันไปมานั่นแหละ เรียกว่า ทุกขลักษณะ เมื่อจิตรู้อย่างนี้ ก็จะได้ไม่หวั่นไหว ไม่ยึดเอาของไม่เที่ยงมาเป็นทุกข์"
"การกิน การนอน การร่าเริงมหรสพต่างๆ เป็นเพียงสุขชั่วคราว ไม่ยั่งยืน ย่อมแตกดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นทุกคนที่ปฏิบัติธรรม อย่าไปหลงใหลในความสุขชั่วคราวนั้น แต่ความสุขชั่วคราวนี้ ไม่มีก็ไม่ได้ เพียงแต่ว่าเมื่อมีมาแล้ว ก็ให้รู้เท่า ถ้าไม่รู้เท่า ก็จะเป็นทุกข์ พอมันหายไปทุกข์ใหญ่ก็จะเกิดขึ้น"
“เรือที่นายช่างต่อดีแล้วอย่างแข็งแรง เมื่อถูกคลื่นกระทบแล้วไม่เสียหายฉันใด จิตของบุคคลใดเมื่อฝึกฝนให้ดีแล้ว คลื่นของกิเลสกระทบเข้าย่อมไม่หวั่นไหวก็ฉันนั้น”
"สิ่งทั้งปวงในโลกนี้มิใช่ว่าจะอำนวยแต่ความทุกข์เท่านั้น บางทีก็อำนวยความสุขให้เหมือนกัน ดังนั้นคนจึงติดมัน แต่บรรดานักปราชญ์ผู้มีปัญญาทั้งหลายท่านพิจารณาเห็นว่า มันเป็นความสุขชั่วคราวไม่ยั่งยืน ถ้าพิจารณาโดยสรุปแล้ว ก็เป็นทุกข์นั้นแหละ มากกว่าความสุข อันความสุขที่ว่านี้ มันเป็นเพียงเหยื่อล่อให้ติดอยู่ในทุกข์เท่านั้น ไม่ใช่เป็นสุขยั่งยืนแต่อย่างใด เพราะคนเราเกิดมาแล้วที่สุดก็ต้องตาย ร่างกายนี้เมื่อจิตละไปแล้ว ก็ต้องแตกสลายออกจากกัน ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย”
"พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่ละเอียดมาก ทรงไปแสดงไว้ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะเหตุว่าเทวดามีกายละเอียด จิตใจผ่องใส เพราะบนสวรรค์ไม่มีการทำบาป คนที่ไปเกิดบนสวรรค์นั้นตอนเป็นคน ก็เว้นโทษ ๕ ประการตลอดชีวิต (คือ อยู่ในศีล ๕ ไม่ละเมิดศีลห้า) กุศลาธรรมา คือ ธรรมอันเป็นกุศล
อกุศลาธรรมา คือ ธรรมอันเป็นอกุศล อพยากตธรรมมา คือ ธรรมอันไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่เป็นกุศลไม่เป็นอกุศล.......... พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ธรรม มีอยู่ ๓ ประการนี้ แต่ว่าแตกกิ่งก้านสาขาไปได้มากมาย แตกร่มเงาให้คน สัตว์ ได้อาศัยกุศลธรรมคือ ธรรมอันดี พระพุทธเจ้าทรงส่งเสริมให้บุคคลทำ ก็คือ ไม่ทำบาป ๕ ประการ (หนึ่ง) และ ไม่ทำบาปอื่นอีก (หนึ่ง) ก็ได้ชื่อว่าเป็นบุญเป็นกุศล ศีลห้าทำให้คนฉลาด คนไม่ฉลาดรักษาศีลห้าไม่ได้ ใครรักษาได้ก็เป็นบุญกุศลของคนนั้น ได้ชื่อว่ามีบุญ กุศล ความดีเป็นที่รั้งจิตใจ"
"เอโกปุคคะโล...ทำตนเองให้เป็นคนๆเดียว ถือจิตดวงเดียวเท่านั้น จะสามารถพบธรรมะชั้นสูงสุดได้ไม่ต้องสงสัย "
"ธรรมะเป็นสิ่งประเสริฐ แม้ธรรมะประดิษฐานอยู่กลางดวงจิตดวงใจ ของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นจะได้รับความอบอุ่นใจ มีที่พึ่งอันถาวรสมบรูณ์ทุกประการ จะไม่มีสิ่งใดๆ ในโลกที่จะให้ความอบอุ่นยิ่งกว่าธรรมะ"
"ผู้มีกุศลในใจคือ มีบุญในใจ หนักแน่น ใครว่าติเตียนก็ไม่เสียใจ ไม่โกรธ ไม่เกลียด เพราะว่าใจมีบุญเป็นเครื่องอยู่ ตรงกันข้ามกับใจที่มีกิเลสอยู่ในใจ ใครมีก็ปั่นจิตใจให้เดือดร้อนวุ่นวาย"
"เราเกิดมาในชาตินี้เป็นบุญลาภอันประเสริฐ ที่ได้มาพบพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐในโลก สมควรที่จะลงมือปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์โดยความไม่ประมาท กิเลสบาปธรรมจะได้น้อยเบาบางจากดวงจิตของตน การที่คนเราจะพ้นทุกข์ไปไม่ได้ก็เพราะไม่ปฏิบัติตามคำสอน ของพระพุทธเจ้านั้นเอง
จิตนั่นแหละเป็นแก่นของชีวิต "
"พุทโธ พุทโธ เป็นยอดกรรมฐาน การภาวนาพุทโธๆ ในใจบ่อย ทำให้ใจเย็นสบาย จิตใจเบิกบานผ่องใส พุทโธ คือเป็นผู้ที่ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว ตื่นที่ว่านี้ ก็คือการตื่นจากความหลง ไม่หลงใหลไม่เชื่ออะไรที่งมงาย "
"อันสตินี้ สัมปชัญญะนี้ ก็สมมติเป็นโชเฟอร์กำพวงมาลีย มีสติคอยระมัดระวัง กาย วาจา จิต อยู่เสมอๆ คอยระวังเรื่องต่างๆ ระมัดระวังไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเที่ยวประกาศ ห้ามใครมาติชมเรา ที่ว่าระวังนั้น คือ เมื่อมีเรื่องมากระทบให้รู้ทัน ในทันที เราจะห้ามจิตไม่ให้หวั่นไหวไปไม่ได้ แต่ให้ระวัง ต้องควบคุมจิตด้วยสติให้ถี่ๆ กระชับสติสัมปชัญญะให้มันถี่เข้ามา จะได้ไม่หวั่นไหวกับคำพูดเสียดแสงใจต่างๆ"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น