ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันเสาร์

หลวงปู่หล้า

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต


 วัดภููจ้อก้อ อำเภอหนองสูง มุกดาหาร

หลวงปู่หล้า เขมปัตฺโต เป็นสุปฏิปันโน ผู้สืบทอดปฏิปทา ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต.....  เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มีศีลาจาริวัตรอันงดงามน่าเลื่อมใส มีความสามารถในการแสดงธรรมอบรมได้ลึกซึ้งจับใจ เป็นดั่งประทีปธรรมแห่งลุ่มแม่น้ำโขง
หลวงปู่หล้าเกิด เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2454  ณ บ้านกุดสระ ตำบลกุดสระ อำเภอหมากแข้ง อุดรธานี.....บิดาชื่อ คูณมารดาชื่อ แพง ชื่อเดิมคือหล้า เสวตร์วงศ์ ท่านได้บรรพชา เมื่ออายุได้ 18 ปี ณ วัดบ้านกุดสระ ต.กุดสระ อ.เมือง จ.อุดรธานี....   ต่อมาท่านได้ลาสิกขาบทเพื่อไปคัดเลือกทหาร ท่านก็ได้แต่งงานมีครอบครัว จนมีลูกผู้หญิงด้วยกันหนึ่งคน อยู่ด้วยกันหนึ่งปีก็เลิก หลังจากนั้นอีกหนึ่งปี ท่านก็แต่งงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง อยู่ด้วยกันเก้าปี มีบุตรด้วยกันสามคน เป็นชายสอง หญิงหนึ่งคน ผู้หญิงนั้นพออายุได้สามปีก็ถึงแก่กรรม ต่อมาภรรยาของท่านเกิดล้มป่วยลง และถึงแก่กรรม พอเสร็จจากฌาปนกิจภรรยาของท่านแล้ว ท่านมีจิตศรัทธาคิดอยากจะบวชอีกครั้ง

หลวงปู่หล้าเมื่ออายุได้ 32 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง.....  ณ วัดบ้านยาง พระอาจารย์เสาร์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ครั้นบวชได้สองพรรษาก็สอบนักธรรมชั้นเอกได้....  ต่อมาท่านได้กราบลาพระอุปัชฌาย์อาจารย์จากสำนักเดิม ท่านญัตติเป็นพระธรรมยุตเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2488 ณ วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี  ครั้นญัตติแล้วท่านเดินธุดงค์ฝึกหัดความกล้า เดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปตามป่าเขาลำเนาไพรเขตเทือกเขาภูพานจังหวัดสกลนคร นครพนม

หลวงปู่หล้าถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต...... ภายหลังจากออกพรรษาในปีพุทธศักราช 2489 หลวงปู่หล้า เขมปัตฺโต ท่านเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมจากวัดป่าโพธิ์ชัย ตั้งใจว่าจะไปกราบพระธาตุพนม และไปพักภาวนาบนเขาภูพาน จากนั้นประมาณเดือนเมษายน ท่านก็เดินธุดงค์ไปวัดป่าบ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เพื่อเข้าไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น..... หลวงปู่หล้าตั้งสัจจะต่อหน้าหลวงปู่มั่น และคณะสงฆ์ว่า “ขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระอาจารย์ ผูกขาดทุกลมปราณ ตลอดทั้งคณะสงฆ์ในทีนี้ทุกๆ องค์ด้วย” เมื่อกราบถวายตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นแล้ว หลวงปู่หล้าตั้งใจศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ ตั้งใจทำสมาธิภาวนา หากเกิดสงสัยในข้อธรรมก็เข้าไปกราบเรียนถามหลวงปู่มั่น แล้วท่านก็เมตตาแก้ปัญหาธรรมให้

หลวงปู่หล้าได้เข้าไปเป็นพระอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น...... เพราะเป็นช่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัยของท่านแล้ว และท่านก็เริ่มอาพาธ หลวงปู่หล้าท่านตั้งใจทำหน้าที่ปฏิบัติบูชาพระคุณของพระอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูงสุด ทำหน้าที่ทุกอย่าง จนได้รับความไว้วางใจจากครูบาอาจารย์หมู่คณะด้วยกัน โดยหลวงปู่มั่น มอบหมายให้หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นผู้ดูแลหมู่คณะแทนท่าน ...... หลวงปู่หล้า อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จนกระทั่งท่านเข้าสู่พระนิพพานที่วัดป่าสุทธาวาส ภายหลังจากเสร็จพิธิถวายเพลิงสรีระสังขารองค์ท่านแล้ว หลวงปู่หล้าได้ติดตามเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ธุดงค์ไปทางภาคใต้ จากนั้นท่านได้ติดตามปฏิบัติธรรมไปกับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน.....

หลวงปู่หล้าท่านฝึกหัดปฏิบัติจิตภาวนา เดินจงกรม ตามป่าเขาลำเนาไพร ต่อสู้กับกิเลสภายในใจ จนได้รับชัยชนะแห่งธรรม...... คือ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่นั้นเป็นต้นมา ท่านก็เริ่มโปรยปรายสายธรรมอันฉ่ำใจ แก่สานุศิษย์ศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าทั้งพระสงฆ์สามเณรแลฆราวาส และสร้างสำนักปฏิบัติธรรม คือ วัดบรรพตคีรี หรือวัดภูจ้อก้อ ในปัจจุบันนี้

 หลวงปู่หล้า ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่19 มกราคม พ.ศ.2539......  ณ วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) สิริรวมอายุได้ 84ปี 11 เดือน 52 พรรษา อัฐิของท่านก็กลายเป็นพระธาตุมีสีสรรวรรณะต่างๆ และได้ทำการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิธาตุ อัฐบริขารเครื่องใช้ต่างๆ ขององค์ท่าน ให้เป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า

คำสอนหลวงปู่หล้า

 "มุ่งดีในโลกีย์เป็นทางวนเวียน มุ่งดีในทางโลกุตตระเป็นทางพ้นทุกข์"


"มองตัวเองให้มากจึงจะกลายเป็นคนดีได้ มัวแต่มองท่านผู้อื่นแล้วไซร้ ก็กลายเป็นคนพาลไป ไม่รู้ตัว เพราะนิสัยคนพาลย่อมเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวัตร พุทธศาสนาก็ยืนยันว่า "สอนตนดีแล้ว จึงสอนท่านผู้อื่น" จึงไม่เดือดร้อนในภายหลัง เรื่องอุปสรรคในโลกทั้งปวง และก็เป็นยาวิเศษทั้งปวงไปในตัว เป็นเหตุให้เข็ดหลาบโลกทั้งปวงไปในตัว แบบถี่ถ้วนแยบคายด้วยซ้ำ มุ่งดีในโลกีย์เป็นทางวนเวียน มุ่งดีในทางโลกุตตระเป็นทางพ้นทุกข์"
 
"พระนิพพานไม่ใช่ผู้รู้ เหนือผู้รู้ไปจนไม่มีที่หมาย  ถ้าหมายอยู่ยังไม่ใช่พระนิพพาน เป็นเพียงความหวังและเจตนากำลังเดินทางใจมรรคใจเท่านั้น ธรรมชั้นนี้เป็นธรรมชั้นสูงมาก มอบให้เจ้าตัวแต่ละรายเป็นผู้มีสิทธิ์เห็นเองรู้เอง จึงเป็นของไม่นอกเหนือ ถ้านอกเหนือไปกว่านี้แล้ว เป็นธรรมหาพรรคหาเสียงภายนอกเหมือนชาวโลกที่อลหม่านกันอยู่ "

"การดักจิตดักใจของตนเอง ย่อมเป็นภาวนาอยู่ในตัว ทวนกระแสเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะจะได้รู้ว่าเดี๋ยวนี้มีกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกหรือไม่ล่ะ ถ้ามีหรือไม่มีจะได้รู้ เมื่อรู้ว่ามีจะละด้วยวิธีใดก็จะได้รู้ด้วยวิธีนั้น บรรเทาหรือไม่ก็จะรู้ได้ ขาดไปแล้วไม่กำเริบด้วยวิธีใดก็จะได้รู้ด้วยวิธีนั้น กำเริบขึ้นด้วยวิธีใดก็จะได้รู้ด้วยวิธีนั้น การพิจารณาจิตในจิตนี้ จะปฏิเสธไม่ได้ถ้าปฏิเสธแล้ว การพิจารณาจิตก็ไม่บริบูรณ์จะเป็นจิตบริสุทธิ์ไปได้ยาก เพราะขาดจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานย่อมไม่สมบูรณ์"

"พระพุทธศาสนาเป็นธรรมคุ้มครองสรรพโลกอยู่โดยตรงๆ แล้ว ผ่านการบ้านการเมืองไปแล้ว ข้ามไปเป็นการคุ้มครองโลก เหนือไปกว่าการบ้านการเมืองไปอีก พระบรมศาสดาจึงยืนยันว่าธรรมเป็นโลกบาล คือคุ้มครองโลกได้ มีอยู่ ๒ ข้อ หิริ ความละอายต่อบาปทุจริต โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต"

"อดีต อนาคตย่อมเป็นเมืองขึ้นของปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นผู้ส่งส่ายเอามาใช้ให้รู้ความหมาย เมื่อปัจจุบันเป็นโลกิยวิสัย อดีตอนาคตก็พลอยเป็นโลกิยวิสัยไปด้วย แต่อดีตอนาคตไม่มี มีแต่ชื่อและบัญชี เพราะล่วงไปแล้ว เพราะยังไม่มาถึง ดีก็ดีไปแล้ว ชั่วก็ชั่วไปแล้ว อนาคตเล่า ถ้าจะดี ก็ยังไม่มาถึง ถ้าจะชั่ว ก็ยังไม่มาถึง ปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรม เท่านั้น จะละเว้นได้ในทางที่ไม่ชอบ และก็จะปฏิบัติได้ในทางที่ชอบ ถ้าหากว่าคอยไปบดเอื้องอยู่แต่อดีต อนาคตเท่านั้น ก็ลืมโอปนยิโกมาในปัจจุบัน จิตใจก็ห่างเหินจากสมาธิและปัญญา "

"ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อเช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่าบาปมีบุญมี มรรค ผล นิพพานมี เป็นต้น เชื่อว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลมาในพระปาฏิโมกข์ หรือพุทธบัญญัติ และอภิสมาจาร ย่อมเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้รักษาและประพฤติได้ ย่อมเป็นได้ทั้งโลกีย์และโลกุตระ ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละรายของบุคคลตามเหตุผลเฉพาะส่วนตัวเป็นรายๆ ไป แม้ศรัทธาเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อก็เหมือนกัน เป็นได้ทั้งโลกีย์และโลกุตระ ขึ้นอยู่แต่ละรายของบุคคลอีก "

"การขีดๆ เขียนๆ เป็นเอกสารและตำรา ดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับท่านผู้เลือกเฟ้นพิจารณาเอง กฎของการข่มเหงให้ยอมเชื่อไม่มีในทางธรรมของพระพุทธศาสนา แม้จะยอมเชื่อด้วยการแก้รำคาญก็ไม่นานย่อมขบถคืน จิตใจก็ไม่ชื่นเหมือนศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นเอง "

"มนุษย์จะเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นชั้นๆ ของจิตใจได้ก็ด้วยใจอันเห็นชอบ ปฏิบัติชอบ ประกอบกรรมอันดีเป็นลำดับ สูงส่งขึ้นไป ความดีและไม่ดี ไม่มาจากดินฟ้าอากาศภายนอกที่ชาวโลกแสวง ถ้าหากว่า มาจากดินฟ้าอากาศภายนอกแล้ว ปีไหนฟ้าฝนแล้งหรือท่วม พระอริยเจ้าก็ต้องลดตำแหน่งมาเป็นปุถุชนคนหนาก่อน ปีไหนฟ้าดีฝนดี จึงสวมมงกุฎเป็นพระอริยเจ้า"

"อารมณ์วู่วามนั้น หากบุคคลใดรู้ตัวก็ต้องถือว่าเป็นคนมีปัญญาแล้ว และหากถ้ามันเห็นว่าไม่มีประโยชน์มันก็จะวางไปเอง แต่ถ้าหากเห็นว่ามีประโยชน์มันก็วางไม่ได้ อย่างไรก็ตาม มันจะถึงกับฆ่าหรือตีเขาหรือไม่ ข้อนี้ก็เป็นส่วนที่จะต้องรู้อีก ถ้ามันหมายจะฆ่าจะตีเขาก็ส่อแสดงให้เห็นว่ามันยังมีกิเลสมากอยู่ เรื่องนี้เราต้องพิจารณา "

"ใครๆ ในโลกนี้ก็เหมือนกัน ถ้าหากเห็นว่าโลภ โกรธ หลง มันเป็นของอร่อยอยู่ มันก็ลดละไม่ได้ มันต้องไปสังเวยเป็นอาหารของกิเลสต่อไป เรื่องความวู่วามโผงผางนี้ พระบรมศาสดากล่าวว่า เป็นตามนิสัยก็มี เพราะบางคนอุปมาเหมือนน้ำใสกลางขุ่นขอบ คือมารยาทไม่งามพูดจาโผงผาง แต่จิตใจเป็นธรรมอยู่ บางคนเหมือนน้ำใสทั้งขอบทั้งกลาง หมายความว่าจิตใจก็เป็นธรรม มารยาทก็เป็นธรรม ส่วนบางคนที่เหมือนน้ำขุ่นทั้งกลางทั้งขอบ ก็หมายความว่าจิตใจก็ไม่เป็นธรรม คำพูดก็ไม่เป็นธรรม "

"เรื่องของธรรมะของพระพุทธศาสนา ความจริงแล้วเราควรจะต้องปฏิบัติให้ควบคู่กับอารมณ์ของเราไป ดีกว่าที่จะปล่อยให้อารมณ์ไหวไปทางอื่น ยกอุทาหรณ์ คนเราจะสะอาดหรือไม่สะอาดขาดตัวก็ตาม แต่ก็ต้องได้อาบน้ำอยู่นั่นเอง ถ้าไม่อาบน้ำก็ยิ่งไปใหญ่ เข้าสังคมใดๆ ก็ไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าเราไม่ประพฤติศีลประพฤติธรรมแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะมาล้างหัวจิตหัวใจให้สะอาดได้"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

-