ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันพฤหัสบดี

ทิศ6

ธรรมะน่ารู้ในเรียนรู้ธรรมะไปกับแม่หมอ วันนี้นำเสนอเรื่องทิศหก ค่ะ ....... ทิศหก ในความหมายทางธรรมหมายถึง บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ดุจทิศที่อยู่รอบตัวจัดเป็น ๖ ทิศ ดังนี้ ...... ๑. ปุรัตถิมทิส ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดา มารดา ..... ๒. ทักขิณทิสทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์.......๓. ปัจฉิมทิส ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ สามีภรรยา............ ๔. อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้ายได้แก่ มิตรสหาย ..... ๕. อุปริมทิส ทิศเบื้องบนได้แก่ พระสงฆ์ สมณพราหมณ์ ...... ๖. เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ลูกจ้างกับนายจ้าง  ....... ส่วนตัวเราก็มีหน้าที่กับบุคคลที่เกี่ยวข้องตามทิศหกดังนี้ค่ะ


๑. ปุรัตถิมทิส ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดา มารดา 

 มารดาบิดาอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้........... ห้ามปรามจากความชั่ว  ให้ตั้งอยู่ในความดี  ให้ศึกษาศิลปวิทยา  หาคู่ครองที่สมควรให้   มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร

ส่วนบุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดา ดังนี้ ........  ท่านเลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบ  ช่วยทำกิจของท่าน  ดำรงวงศ์สกุล  ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท  เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน

๒. ทักขิณทิสทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์


ครูอาจารย์อนุเคราะห์ศิษย์ ดังนี้ ........  ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี  สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง  สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง  ยกย่องให้ปรากฏในหมู่เพื่อน   สร้างเครื่องคุ้มกันภัยในสารทิศคือ สอนให้ศิษย์ปฏิบัติได้จริง นำวิชาไปเลี้ยงชีพทำการงานได้

ส่วนศิษย์พึงบำรุงครูอาจารย์ ดังนี้ .......  ลุกต้อนรับแสดงความเคารพ   เข้าไปหา   ใฝ่ใจเรียน   ปรนนิบัติ   . เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

๓. ปัจฉิมทิส ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ สามีภรรยา 

สามีพึงบำรุงภรรยา ดังนี้ ......  ยกย่องสมฐานะภรรยา   ไม่ดูหมิ่น  ไม่นอกใจ    มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้   หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญ ตามโอกาส

ส่วนภรรยาอนุเคราะห์สามี ดังนี้ .........  จัดงานบ้านให้เรียบร้อย สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี   ไม่นอกใจ   รักษาสมบัติที่หามาได้   ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง

๔. อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย
เราพึงบำรุงมิตรสหาย ดังนี้ .......  เผื่อแผ่แบ่งปัน   พูดจามีน้ำใจ   ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน   มีตนเสมอร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย  ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน

ส่วนมิตรสหายอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้ ........  เมื่อเพื่อนประมาทช่วยรักษาป้องกัน  เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน   ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้   ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก   นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร

๕. อุปริมทิส ทิศเบื้องบน ได้แก่ พระสงฆ์ สมณพราหมณ์
คฤหัสถ์พึงบำรุงพระสงฆ์ ดังนี้ ........  จะทำสิ่งใดก็ทำด้วยเมตตา   จะพูดสิ่งใดก็พูดด้วยเมตตา  จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา   ต้อนรับด้วยความเต็มใจ   อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔

ส่วนพระสงฆ์อนุเคราะห์คฤหัสถ์ ดังนี้ .....  ห้ามปรามจากความชั่ว  ให้ตั้งอยู่ในความดี   อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี   ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง   ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง   บอกทางสวรรค์ สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบความสุขความเจริญ

๖. เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ลูกจ้างกับนายจ้าง
นายจ้างพึงบำรุงลูกจ้าง ดังนี้ .........  จัดการงานให้ทำตามกำลังความสามารถ   ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและ ความเป็นอยู่   จัดสวัสดิการดีมีช่วยรักษาพยาบาลในยาม เจ็บไข้ เป็นต้น   ได้ของแปลกๆ พิเศษมา ก็แบ่งปันให้  ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาส อันควร

ส่วนลูกจ้างอนุเคราะห์นายจ้าง ดังนี้ ....... เริ่มทำงานก่อน   เลิกงานทีหลัง เอาแต่ของที่นายให้   ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น   นำความดีของนายไปเผยแพร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

-