ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันเสาร์

สัมมาสมาธิ

             การฝึกสมาธิเพื่อสงบจิตธรรมดา  .... ประโยชน์ที่ได้ ก็จะเป็นเรื่องของสุขภาพจิต คือจิตใจเราจะโปร่งใส สดชื่น เยือกเย็นขึ้น  รอบคอบ ไม่่วู่วาม มีสติ หนักแน่นขึ้น ....มีสมาธิในการทำการงานในชีวิตประจำวัน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก  ไม่เลื่อนลอย ก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธภาพของการงานที่ทำไปในตัวค่ะ .... รวมทั้งสมาธิยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพกายด้วยนะคะ เนื่องจากร่างกายและจิตใจนั้นสัมพันธ์กัน เมื่อจิตใจเข้มแข็ง มีพลัง ย่อมส่งผลตีต่อร่างกายตามไปด้วยนะคะ....

             แต่การฝึกสมาธิในทางพุทธศาสนาลึกซึ้งกว่านั้นค่ะ  เป็นการฝีกเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิ..... หรือการหลุดพ้นอันเป็นการดับทุกข์   (จากสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คืออริยสัจ4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) .... สัมมาสมาธิ เป็นมรรคที่8 เริ่มจาก สัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ)  สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (การเจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) สัมมาสมาธิ (ความระลึกชอบ)..... และข้อสุดท้ายคือสัมมาสมาธิ(ความตั้งใจชอบ)นั่นเองค่ะ

            เรามาดูความหมายของสัมมาสมาธิกันก่อนดีกว่ามั๊ยคะ  .....สัมมาสมาธิ ตามคำจำกัดความในพระสูตรทั่วไป เจาะจงว่าได้แก่สมาธิตามแนวฌาน4 ดังนี้ค่ะ

    1. สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอุศลกรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน ซึ่งมี วิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่

    2. บรรลุทุติยฌาน ซึ่งมีความผ่องใสแห่งจิตใจภายใน มีภาวะใจเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารระงับไป มีแต่ปีติและสุข เกิดแต่สมาธิอยู่

    3. เพราะปีติจางไป จึงมีอุเบกขาอยู่ มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลายกล่าวว่าเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

    4. เพราะละสุข ละสุขละทุกข์ และเพราะโสมนัสโทมนัสดับหายไปก่อน จึงบรรลุจตุฌาน อันไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาอยู่

           ส่่วนคำจำกัความในพระคัมภีร์ธรรม (ซ้ำอีกครั้งนะคะ) ว่าดังนี้ค่ะ..... สัมมาสมาธิเป็นไฉน  .... ความตั้งอยู่แห่งจิต ความตั้งแน่วแน่แห่งจิต ความมั่นลงไปแห่งจิต ตวามไม่ส่ายไปส่ายมา ความไม่ฟุ้งช่านแห่งจิต ภาวะที่มีใจไม่ซัดส่าย ความสงบ(สมถะ) สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิโพชฌงค์ ที่เป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรคอันใดนี้ เรียกว่า สัมมาสมาธิ.....

           ว่าโดยสาระแล้ว สัมมาสมาธิเป็นสมาธิที่ใช้ในทางที่ถูกเพื่อจุดหมายในการหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นไปเพื่อให้มีปัญญาที่จะรู้จะเข้าใจสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง.... มิใช่เพื่อในทางสนองความอยากของตน หรืออวดอิทธิฤทธิ์ความสามารถ(มิจฉาสมาธิ).... ซึ่งสมาธิแบ่งออกเป็น3ระดับคือ

    1.ขณิกสมาธิ หรือสมาธิชั่วขณะ เป็นสมาธิขั้นต้น ซึ่งอาจใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่การงานประจำวันให้ได้ผลดี เป็นจุดเริ่มของการเจริญวิปัสสนา

    2. อุปจารสมาธิ หรือสมาธิเฉียดๆ สมาธิจวนจะแน่วแน่ เป็นสมาธิขั้นระงับนิวรณ์(อุปสรรคของสมาธิ) ก่อนเข้าสู่ภาวะแห่งฌาน

    3. อัปปนาสมาธิ หรือสมาธิแน่วแน่ เป็นสมาธิระดับสูงสุดหรือที่เรียกว่าฌาน ถือว่าเป็นผลสำเร็จของการเจริญสมาธิ

             เมื่อเราเข้าใจความหมายของสัมมาสมาธิแล้ว เรามาดูกันต่อนะคะว่า จิตที่เป็นสมาธินั้นจะมีลักษณะอย่างไร จิตที่มีคุณภาพดี มีสมรรถภาพสูง มีลักษณะดังนี้ค่ะ

     1.แข็งแรง มีพลังมาก  เปรียบเหมือนกระแสน้ำที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทางเดียวกัน ย่อมมีกำลังแรงกว่ากระแสน้ำที่ปล่อยให้ไหลกระจายออกไป

     2.ราบเรียบ สงบ เหมือนสระน้ำในบึงใหญ่ที่มีน้ำนิ่ง ไม่มีลมพัด ไม่มีสิ่งรบกวนให้กระเพื่อมไหว

     3. ใส กระจ่าง มองเห็นอะไรได้ชัด เหมือนน้ำที่แม้มีฝุ่นละอองก็ตกตะกอนนอนก้นหมด

     4. นุ่มนวล เหมาะแก่การใช้งาน ไม่เครียด ไม่กระด้าง ไม่ขุ่นมัว ไม่สับสน ไม่เร้าร้อน ไม่กระวนกระวาย

           จิตที่เป็นสมาธิขั้นสมบูรณ์นั้นจะต้องเป็นภาวะที่มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียวประกอบด้วย 8อย่าง คือ ตั้งมั่น - บริสุทธิ์- ผ่องใส - โปร่งโล่งเกลี้ยงเกลา - ปราศจากสิ่งมัวหมอง - นุ่มนวล - ควรแก่งาน - อยู่ตัวไม่วอกแวกหวั่นไหว นั่นละค่ะจิตที่สมบูรณ์....

          แล้วอะไรละคะที่เป็นอุปสรรคไม่ให้เกิดสมาธิ นั่นก็คือนิวรณ์5นั่นเอง มีดังนี้นะคะ

     1. กามฉันท์ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ในกามคุณทั้ง5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่น่าปราถนา น่าพอใจ จิตจะถูกล่อด้วยอารมณ์ต่างๆ ให้เขวออกไปหาอารมณ์อื่น จิตก็จะไม่ตั้งมั่น ไม่อาจเป็นสมาธิได้ ........  (เปรียบเสมือนภาชนะใส่น้ำ ที่เอาสีใส่ลงไป สีเขียวบ้าง แดงบ้าง เมื่อคนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง)

     2. พยาบาท ความขัดเคืองแค้นใจ ความเกลียดชัง ผูกใจเจ็บ การมองโลกในแง่ร้าย คิดร้ายต่อผู้อื่น ตลอดจนความโกรธ ความหงุดหงิด ความฉุนเฉียว ทำให้จิตไม่อาจเป็นสมาธิได้ ..... (เปรียบเสมือน ภาชนะใส่น้ำที่ตั้งไฟ เดือดพล่าน มีไอพุ่ง คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง)

     3.ถีนมิทธิ  ถีนะ หมายถึง อาการทางใจ ที่มีความหดหู่ ห่อเหี่ยว ท้อแท้  ซึมเซา เหงาหงอย ละเหี่ย เซ็ง .... ส่วนมิทธิ หมายถึงอาการทางกาย ที่มีความเซื่ิองซึม เฉื่อยชา ง่วงเหงาหาวนอน อืดอาด มึนๆตื้อๆ ..... จิตที่ถูกอาการทางกายและใจ คือ ถีนะมิทธิ ครอบงำย่อมไม่เข้มแข็ง ไม่คล่องตัว ไม่เหมาะแก่การใช้งาน จึงไม่อาจเป็นสมาธิได้.... (เปรียบเสมือนภาชนะใส่น้ำที่ถูกสาหร่ายและจอกแหนปกคลุม คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริง)

     4. อุทธัจจกุกกกุจจะ อุทธัจจะ หมายถึง จิตที่ฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ซ่าย พล่า พล่านไปมา ... ส่วน กุกกกุจจะ หมายถึงความวุ่นวายใจ รำคาญใจ ระแวง เดือดร้อนใจ กลุ้มใจ กังวลใจ .... จิตที่ถูกอุทธัจจกุกกกุจจะ ครอบงำ ย่อมพลุ่งพล่าน  กังวล  ไม่อาจสงบลงได้ จึงไม่อาจเป็นสมาธิได้ .... (เปรียบเสมือนภาชนะใส่น้ำที่ถูกลมพัดไหว กระเพื่อมเป็นคลื่น คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริง)

     5.วิจิกิจฉา หมายถึงความลังเล สงสัย เคลือบแคลง ไม่แน่ใจ เกี่ยวกับองค์พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกี่ยวกับกุศลธรรมทั้งหลาย ตัดสินไม่ได้ว่าธรรมะนี้ มีคุณค่า มีประโยชน์ควรแก่การปฏิบัติหรือไม่ .... จิตที่ถูกวิจิกิจฉาครอบงำ ให้เกิดความลังเล ย่อมไม่อาจแน่วแน่เป็นสมาธิได้ .... (เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ขุ่นมัว เป็นตม วางในที่มืด คนตาดีมองดูเงาหน้าตนเองในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริง)

          เรียนรู้ธรรมะไปกับแม่หมอในวันนี้ คงช่วยให้เพื่อนๆเข้าใจคำว่าสัมมาสมาธิในทางพุทธศาสนาขึ้นมาได้บ้างนะคะ แม้จะยังไม่ลึกซึ้งก็ตาม .... พุทธศาสนาเป็นสิ่งดีงาม เป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้พวกเราหลุดพ้นจากวงจรแห่งความทุกข์ได้  ..... แต่ก็มีความยากอยู่บ้างในการเรียนรู้จากคำศัพท์และความหมายในภาษาบาลี และด้วยเวลาที่ยาวนาน ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ... เพื่อนๆอย่าเพิ่งเบื่อหรือท้อนะคะ  ค่อยๆทำความเข้าใจไป แล้วเพื่อนๆจะรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ค่อยๆดีขึ้นเลยละค่ะ.....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

-