ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันอาทิตย์

หลวงปู่สิงห์

พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา .....  เป็นยอดขุนพลของกองทัพธรรมกรรมฐาน  ท่านปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นเสมือนตัวแทนหลวงปู่เสาร์และและพระอาจารย์มั่น  พระกรรมฐานทั้งมวลล้วนเคยผ่านการอบรมสั่งสอนจากท่านทั้งสิ้น..... เมื่อคราวหลวงปู่มั่นได้เดินธุดงค์แสวงหาวิเวกธรรมทางภาคเหนือนาน12ปี หลวงปู่สิงห์ได้สานต่อการเผยแพร่ธรรมะโดยกำหนดพระผู้ควรแก่การเป็นหัวหน้า นำพระผู้ติดตามแต่ละสาย4-5องค์ ออกเผยแพร่หลักธรรม ให้ประชาชนยึดถือพระไตรสรณคมน์ น้อมจิตหันมาประพฤติปฏิบัติธรรม......

หลวงปู่สิงห์ มีนามเดิมว่า สิงห์ บุญโท เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2432 ที่อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี
พ.ศ.2446 ได้บรรพชาที่วัดบ้านหนองขอน ต.หัวทะเล อ.อำนาจเจริญ .... และเมื่ออายุครบบวชได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสุทัศน์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2452 ......หลวงปู่สิงห์ ได้เข้าถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และได้ฝึกอบรมสมาธิภาวนากัมมัฏฐานอยู่กับหลวงปู่มั่น จนมีกำลังอันแก่กล้า........  ท่านสามารถรอบรู้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายของกิเลสตัณหาได้อย่างแยบยล และมุกุศโลบายในการพิชิตเอาชนะอาสวะกิเลสต่างๆได้.......สามารถให้อุบายธรรมแก่บรรดาลูกศิษย์ โดยไม่ว่าผู้ใดติดขัดปัญหาธรรมแล้ว ท่านจะแนะนำอุบายให้พิจารณาจนกระจ่างแจ่มใสเลยทีเดียว ...  เนื่องจากหลวงปู่สิงห์เป็นศิษย์ที่ได้รับความไว้วางใจจากพระอาจารย์มั่นเป็นอย่างมาก หลวงปู่มั่นจึงได้แยกย้ายไปอบรมสั่งสอนประชาชน ......

หลวงปู่่สิงห์ มักจะฝึกให้ศิษย์ทั้งหลายได้อสุภกรรมฐานจากซากศพที่ชาวบ้านนำมาฝังหรือใส่ โลงไม้อย่างง่ายๆ เก็บเอาไว้รอวันเผา บางครั้งท่านจะพาลูกศิษย์ไปเปิดโลงศพหรือขุดขึ้นมาดูเพื่อฝึกพระลูกศิษย์ของท่าน ....ท่านได้เคยพาคณะศิษย์ของท่านไปปักกลดโดยยึดเอาสถานที่เป็น ป่าช้าเก่าแก่เรียกว่า ป่าช้าบ้านเหล่างา จ.ขอนแก่น ซึ่งในกาลต่อมาเป็นวัดชื่อว่า วัดป่าวิเวกธรรม

หลวงปู่สิงห์ได้สร้างวัดป่าสาละวัน นครราชสีมา   จากการที่หลวงชาญนิคม ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเลื่อมใสในพระธุดงค์กัมมัฏฐาน มีประสงค์เป็นอย่างยิ่งที่จะฟื้นฟู จ.นครราชสีมา ให้เป็นศูนย์รวมของพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จึงได้นิมนต์พระอาจารย์สิงห์ ให้ไปช่วยสร้างวัดป่าสาลวัน เพื่อเป็นวัดป่าตัวอย่างของฝ่ายวิปัสสนาธุระ หลวงปู่สิงห์ก็รับนิมนต์ตามคำขอร้องสร้างวัดป่าสาลวันจนเป็นที่เรียบร้อย

หลวงปู่สิงห์ได้เดินธุดงค์ผ่านมาพักจำพรรษา อยู่ที่วัดบ้านนาสีดาอ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ท่านได้พบกับเด็กหนุ่มรุ่นคนหนึ่ง มีความเคารพนับถือพระอาจารย์สิงห์มากเป็นพิเศษ ได้เข้ามารับใช้อุปัฏฐากทุกสิ่งอย่าง เด็กรุ่นหนุ่มคนนั้น คือ หนุ่มเทสก์ เรี่ยวแรง ซึ่งต่อมา คือหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ในขณะนั้น มีอายุ 16 ปี

หลวงปู่สิงห์์ได้พาคณะธุดงค์เดินธุดงค์ไปทางอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ได้พักจำพรรษาโดยปักกลดในบริเวณป่าช้าแห่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งปฏิบัติสมาธิภาวนาธรรม ชื่อว่า "วัดป่าอรัญญวาสี" อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย

หลวงปู่สิงห์  เป็นพระผู้มีความกตัญญู ในการทดแทนพระคุณบิดามารดาได้เดินทางไปโปรดบิดามารดาจนมีจิตใจแจ่มใสเบิกบานในธรรม ท่านได้ให้บิดามารดาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยการแนะนำไปทีละน้อยๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของบุตรพึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง

หลวงปู่สิงห์ ได้รับพระราชสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามว่า พระญาณ วิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2500....หลวงปู่สิงห์ได้มรณภาพลงอย่างสงบ จากอาการอาพาธด้วยโรคมะเร็ง เรื้อรังในกระเพาะอาหาร ณ วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา สิริอายุ 73 ปี เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2507

คำสอนหลวงหลวงปู่สิงห์

"จงบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาให้เป็นอธิศีล อธิสมาธิ อธิปัญญา"



" วิธีแก้จิตก็คือวิธีนั่งสมาธินี้เอง แต่ก็เป็นของที่ขาดคราวมานาน จนผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาเข้าใจผิดไปหมดว่าหมดคราวหมดสมัย หมดเขตมรรคผลธรรมวิเศษเสียแล้ว"


"นักปฏิบัติในพุทธศาสนานี้ เมื่อเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระวินัย ดำเนินตามธรรมวินัย ตามหนทางอริยมรรคถูกต้อง ตลอดจิตประชุมอริยมัตถสมังคีเองแล้ว ย่อมบังเกิดอริยพลแจ้งประจักษ์ใจ"



"หากสละทั้งชีวิต ตั้งใจประพฤติปฏิบัติกันจริง ๆ แล้ว พระพุทธศาสนาก็ไม่เป็นของยากลำบากและเหลือวิสัยอะไร ทำได้จนเต็มความสามารถของตนที่เดียว"


"กายนี้คือก้อนทุกข์ กายนี้เป็นที่หมายให้พ้นเสียจากทุกข์ ฝึกสติปัญญาให้ดี แล้วมาพิจารณากายนี้ให้แจ้ง ก็จะพ้นทุกข์"



วิธีรักษาพระไตรสรณคมน์ไม่ให้ขาดและไม่ให้เศร้าหมองของหลวงปู่สิงห์มี ดังนี้คือ


๑. เป็นผู้ตั้งอยู่ในความเคารพ ๖ ประการ คือ เคารพในพระพุทธเจ้า ๑ เคารพในพระธรรม ๑ เคารพในพระอริยสงฆ์สาวก ๑ เคารพในความไม่ประมาท ๑ เคารพในไตรสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ๑ เคารพในปฏิสันถารการต้อนรับ ๑ ต้องเป็นผู้มีความเชื่อ ความเลื่อมใส นับถือพระรัตนาตรัยเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกของตนจริงๆ ถ้าประมาทเมื่อไรก็ขาดจากคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น


๒. เว้นจากการนับถือพระภูมิต่างๆ คือ ไม่นับถือภูตผีปีศาจ พระภูมิเจ้าที่ เทวบุตร เทวดา มนต์ คาถา วิชาต่างๆ ต่อไป ถ้านับถือเมื่อไรก็ขาดจากคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น


๓. ไม่เข้ารีตเดียรถีย์ นิครณฐ์ คือไม่นับถือลัทธิ วิธี ศาสนาอื่น ภายนอกพระพุทธศาสนามาเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลีกของตนสืบต่อไป ถ้านับถือเข้ารีตเดียรถีย์เมื่อไรก็ขาดจากคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น


๔. ไม่นับถือลัทธิศาสนาพราหมณ์ คือไม่ดูไม้ดูหมอ แต่งแก้แต่งบูชา เสียเคราะห์เสียขวัญ เป็นต้น ถ้านับถือเมื่อไรก็เศร้าหมองในคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น


๕. เป็นผู้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม เช่น เชื่อว่า ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีได้ดีเป็นต้น ตลอดจนเชื่อความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่สุด ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว ข้อนี้ต้องเป็นผู้มีสมาธิเสมอ ถ้าขาดสมาธิเมื่อไรก็ขาดศรัทธาความเชื่อมั่นนั้น ถ้าขาดศรัทธาความเชื่อเมื่อไรก็เศร้าหมองในคุณพระรัตนตรัยเมื่องนั้น

วิธีปฏิบัติพระไตรสรณคมน์ ของหลวงปู่สิงห์

ท่านสอนให้ปฏิบัติใจของตนเอง เพราะคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ทั้งสามนี้สำเร็จด้วยใจ ล้วนเป็นคุณสมบัติของใจทั้งนั้น ท่านจึงสอนให้ปฏิบัติใจของตนเองให้เป็นคนหมั่น คนขยัน ไหว้พระทุกวัน นั่งสมาธิทุกวัน


ปฐมํ ยามํ จงฺกามาย นิสชฺชํ อาวรณิเยหิ ธมฺเมหิ จิตฺตํ ปริโสเธติ
เวลาก่อนเข้านอน ตอนหัวค่ำให้เดินจงกรม แล้วทำพิธีไหว้พระ เจริญพรหมวิหาร นั่งสมาธิภาวนา ทำจิตสงบและตั้งมั่นเป็นสมาธิก่อนเข้านอน


อฑฺฒรตฺตํ จงฺกามาย นิสชฺชํ อาวรณิเยหิ ธมฺเมหิ จิตฺตํ ปริโสเธต
เวลาเที่ยงคืน นอนตื่นข้นเป็นเวลาที่สงบสงัดดี ให้เดินจงกรม ทำพิธีไหว้พระเจริญพรหมวิหารนั่งสมาธิภาวนา ทำจิตใจให้สงบและตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ จึงนอนต่อไปอีก


ปจฺฉิมํ ยามํ จงฺกามาย นิสชฺชํ อาวรณิเยหิ ธมฺเมหิ จิตฺตํ ปริโสเธตฯ
เวลาปัจจุสมัย จวนใกล้รุ่ง ให้ลุกขึ้นแต่เช้า ล้างหน้า เช็ดหน้าเรียบร้อยแล้วทำพิธีไหว้พระเจริญพรหมวิหาร นั่งสมาธิภาวนาทำจิตให้สงบและตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่แล้วเดินจงกรมต่อไปอีกจนแจ้ง เป็นวันใหม่ จึงประกอบการงานต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

-