เรียนรู้ธรรมะไปกับแม่หมอ วันนี้ในส่วนของฝึกสมาธิ แม่หมอจะพาเพื่อนๆมารู้จักคำว่ากรรมฐาน กันค่ะ เพราะเป็นศัพท์ที่เราคุ้นหูกันมาก ..... มาดูความหมายกันดีมั๊ยคะ ..... กรรมฐาน มาจากคำว่า "กรรม"และ " ฐาน"............ กรรม หมายถึง การกระทำ ในที่นี้มุ่งหมายเอาการบำเพ็ญเพียรทางจิตใจ เพื่อฝึกฝน อบรม ขัดเกลา กำจัดกิเลส อันเป็นสาเหตุหลักของความทุกข์ทั้งหลาย ...... ฐาน หมายถึง ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต....... กรรมฐาน จึงหมายถึง ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอบรมจิต หรืออุบายหรือกลวิธีเหนี่ยวนำให้เกิดสมาธิค่ะ ..... เป็นสิ่งที่เอามาให้จิตกำหนด เพื่อให้จิตสงบอยู่ได้ ไม่เที่ยวเตลิดเลื่อนลอยฟุ้งซ่าน ไปอย่างไร้จุดหมาย
หรือจะขยายความกรรมฐานต่อได้อีกดังนี้ค่ะ ...... กรรมฐาน เป็นคำเรียกโดยรวมในหมวดของการปฏิบัติธรรมประเภทหนึ่งในพระพุทธศาสนา....... หมวดกรรมฐาน ประกอบด้วย ตัวกรรมฐาน และโยคาวจร...... ตัวกรรมฐาน คือ สิ่งที่ถูกเพ่ง ถูกพิจารณา ได้แก่ อารมณ์ต่าง ๆ ......ส่วนโยคาวจร คือ ผู้เพ่งหรือผู้พิจารณา ได้แก่ สติสัมปชัญญะและความเพียร....... การฝึกกรรมฐานว่าโดยธรรมาธิษฐานจึงหมายถึงการใช้สติสัมปชัญญะพิจารณาอารมณ์ ที่มากระทบ อย่างระมัดระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น เพียรหมั่นระลึกถึงกุศลและรักษากุศลนั้นอยู่มิให้เสื่อมไป
โดยสรุป การฝึกกรรมฐานเป็นการกระทำกุศลกรรมชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะมโนกรรม ต่างจากกรรมทั่วไป ตรงที่เป้าหมายการกระทำเป็นไปเพื่อความสิ้นภพชาติ สิ้นทุกข์ ไม่ต้องไปเกิดในแหล่งกำเนิดใดอีก เนื่องจากจิตต้องอิงอาศัยอารมณ์จึงเกิดขึ้นได้ และธรรมชาติของจิตมีความสัดส่ายไปตามอารมณ์ ไม่อาจหยุดนิ่งเพื่อการพิจารณาแม้เพียงชั่วครู่ จึงจำเป็นต้องใช้อุบายบางอย่าง เพื่อลดความสัดส่าย โดยหาสิ่งที่ไม่เป็นโทษให้จิตอิงอยู่ อุบายที่ว่านี้คือ ที่มาของกิจกรรมที่เรียกว่ากรรมฐานค่ะ
กรรมฐานหรือวิธีฝึกอบรมจิต มี 2 ประเภทนะคะคือ
1. สมถกรรมฐาน อุบายสงบใจ
สมถกรรมฐาน กรรมฐานชนิดนี้ เป็นอุบายให้ใจสงบ คือ ใจที่อบรมในทางสมถะแล้วจะเกิดนิ่ง และเกาะอยู่กับอารมณ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว อารมณ์ของสมถะกรรมฐานนั้น แบ่งออกเป็น 40 กอง คือ กสิณ 10 อสุภ10 อนุสติ10 พรหมวิหาร 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุวัฏฐาน 1 อรูปธรรม 4
2.วิปัสสนากรรมฐาน อุบายเรืองปัญญา
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายให้เรืองปัญญา คือ เกิดปัญญาเห็นแจ้ง หมายความว่า เห็นปัจจุบัน เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ และเห็น มรรค ผล นิพพาน ........ ความหมายของ "วิปัสสนา" นั้นหมายความว่า เห็นโดยวิเศษ หรือเห็นพิเศษ ซึ่ง ขันธ5 อายตะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อริยสัจ4 ปฏิจจาสมุปบาท 12 ล้วนแต่เป็นตัวกรรมฐานที่ทำงานของวิปัสสนาทั้งสิ้น......... การเห็นโดยวิเศษนั้น ไม่ใช่เห็นด้วยตาอย่างธรรมดา แต่เห็นด้วยปัญญา หรือญาณหรือวิชา ได้แก่ ความรู้แจ้งเห็นจริง ..... วิปัสสนาก็คือ ปัญญาเจตสิก ที่รู้ รูปธรรม นามธรรม ตามสภาวปรมัตถ์ ที่มีจริงเป็นจริงอยู่เท่านั้น ....... นั่นคือเข้าใจในไตรสิขา3 วิสุทธิมัคค 7....... ถ้ากล่าวโดยละเอียดก็คือ สติปัฏฐาน 4สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรค 8 ซึ่งรวมเรียกว่า โพธิปักขยิธรรม 37นั่นเองค่ะ
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นหนทางทางไปสู่พระนิพพาน ซึ่งอุปสรรคของวิปัสสนา ได้แก่ โมหะเจตสิก อันเป็นตัววิชชาที่ทำให้มืดมน ไม่รู้รูปนาม ตามความเป็นจริง ...... นอกจากนั้นยังมีอกุศลเจตสิกอีก 13 มีโลภะ โสะ เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า อาสวะ4 โอฆะ4 โยคะ 4 คันถ 4 อุปทาน 4 นิวรณื 5 อนุสัย 7 สังโยชน์ 10 กิเลส 10 ค่ะ
วิปัสสนากรรมฐาน จึงจำเป็นต้องดำเนินไปด้วยหลักการย่อๆ ทั้ง 4 คือ 1. รู้รูปนาม 2. เจริญปัญญา3. ละโมหะ4. ให้ถึงพระนิพพาน
แต่จะเป็นสมถะหรือวิปัสสนากรรมฐานนั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของจิตและมุมมองอันตั้งไว้ดีแล้วของแต่ละคนนะคะ...... ถ้ายังมีกิเลส เช่นกามฉันทะ พยาบาท ความง่วงงุน ความฟุ้งซ่าน ให้เจริญกรรมฐานอย่างไรก็อยู่แค่ขั้นสมถะค่ะ .......... แต่ถ้าจิตมีความพร้อมรู้ชัด เป็นในลักษณะเรืองปัญญา และมนสิการ (กำหนดใจ) รู้ขันธ์ 5 เข้าใจการเกิดและดับไป นั่นจึงเรียกว่าวิปัสสนาได้ค่ะ
เพื่อนๆคงพอเข้าใจความหมายของคำว่ากรรมฐานบ้างแล้วนะคะ .... ที่สำคัญของกรรมฐานอยู่ที่การปฏิบัติค่ะ ส่วนจะแนวทางเป็นสมถะกรรมฐานหรือวิปัสนากรรมฐานก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล...... แต่ถ้ามีเป้าหมายสู่นิพพานก็ต้องวิปัสสนากรรมฐานค่ะ ....
ขอขอบคุณบางส่วนของข้อมูล จากหนังสือจากสำนักปฏิบัติธรรมต่อวนาค่ะ
ทักทาย
แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่ะ
แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น