ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันพุธ

หลวงปู่เทสก์

พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
 (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) 

วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

หลวงปู่เทสก์ เป็นศิษย์หลวงปู่มั่นรุ่นแรกๆที่ร่วมกองทัพธรรม กล่าวได้ว่าหลวงปู่เทสก์เป็นธรรมทายาทของหลวงปู่มั่น  ก่อนหลวงปู่มั่นจะละสังขารนั้นได้มอบหมายให้หลวงปู่เทสก์ทำหน้าที่พี่ชายคอยดูน้องๆแทน..........หลวงปู่เทสก์มักให้โอวาทและเทศนาธรรมแก่ญาติโยมอยู่เสมอมา หนังสือธรรมะที่หลวงปู่เขียนขึ้น หรือรวบรวมธรรมเทศนาที่หลวงปู่แสดงในโอกาสต่าง ๆ เป็นหนังสือที่ให้คติธรรม เกร็ดธรรมแนะแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ฝึกหัดจิต ผู้อ่านแล้วสามารถปฏิบัติตามและสามารถเข้าใจศาสนาพุทธได้ดียิ่งขึ้นและผู้ที่ปฏิบัติตามสามารถเห็นธรรมได้ตามภูมิของตนอย่างแท้จริง ......หนังสือที่หลวงปู่เทศก์ได้เขียน ขึ้นชื่อว่าสิ้นโลกเหลือธรรมได้สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ และยังมีหนังสือเล่มอืนๆอีก อาทิเช่น ธาตุ ขันธ์ อายตนะสัมพันธ์ - ส่องทางสมถะวิปัสนา - นั่งสมาธิ - คุณค่าและประโยชน์ของพระพุทธศาสนา หลักการปฏิบัติธรรม เป้นต้น ........


หลวงปู่เทสก์ กำเนิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2445  ขื่อเดิมชื่อว่า เทสก์ เรี่ยวแรง เกิดในครอบครัวชาวนา  อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ....... เมื่ออายุ16ปี พระอาจารย์สิงห์ได้เดินรุกขมูล มาถึงวัดบ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ หลวงปู่เทสก์ได้มีโอกาสปฏิบัติและติดตามพระอาจารย์สิงห์ไปรอนแรมไปในป่า พร้อมกันนั้นก็ทำความเพียรภาวนาไปในตัว  เมื่อไปถึงอุบลราชธานี หลวงปู่เทสก์ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระอาจารย์ลุย บ้านดงเค็งใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์ บรรพชาแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จนสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในปีที่มีอายุครบ ๒๐ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทสีมาวัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี............... ต่อมาหลวงปู่เทสก์ได้ออกธุดงคไปกับพระอาจารย์สิงห์ ได้มีโอกาสกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ซึ่งทำให้ มีกำลังจิต กำลังใจ ในการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญความเพียรอย่างยิ่ง .......


หลวงปู่เทสก์เคยจาริกธุดงค์กับพระอาจารย์อ่อนสีไปกราบหลวงปู่มั่นที่ป่าเมี่ยง ดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่ และได้ปฏิบัติธรรมในภาคเหนือ ถิ่นมูเซอร์ และมาโปรดสาธุชนแถบลำพูนจนกลับมา ภาคอีสานพำนักที่วัดอรัญญวาสี ท่าบ่อ หนองคาย ....... เมื่อปี พ.ศ.2493 ท่านไปจำพรรษาที่ภูเก็ตและเผยแผ่ศาสนธรรมในภาคใต้ ร่วมกับหมู่คณะท่านพำนักที่ภูเก็ต-พังงา-กระบี่ นานถึง 15 ปี .........  ต่อมาหลวงปู่เทสก์ กลับมาที่ถ้ำขามสกลนคร พักจำพรรษา และปีรุ่งขึ้นจาริกมาที่วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งตั้งอญู่ริมแม่น้ำโขงบรรยากาศดีเหมาะแก่การเจริญธรรมสัมมาปฏิบัติ ........ เมื่อปี พ.ศ.2520 หลวงปู่ได้ไปเผยแพร่ธรรมะที่สิงคโปร์ อินโดนีเซียและออสเตรเลีย

หลวงปู่เทสก์เป็นสมณะผู้สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตรอันงดงามยิ่ง เป็นผู้นำศรัทธาในการอบรมสั่งสอนธรรมและนำสร้างศาสนสถานเพื่อการจรรโลงพระบวร พุทธศาสนาหลายแห่งในถิ่นแถบอีสาน เป็นปูชนียาจารย์ของชนทุกระดับชั้น.......  ในปัจฉิมวัยท่านไปพำนักพักที่วัดถ้ำขามและละสังขาลด้วยอาการสงบเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2537 เวลาประมาณ 22.00 น สิริรวมอายุได้ 93 ปี 71 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานน้ำอาบศพและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานโลงทองทึบ และทรงรับงานบำเพ็ญกุศลอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ .......พิธีพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่เทสก์ มีที่วัดหินหมากเป้ง นับเป็นงานพระราชทานเพลิงศพพระเถราจารย์ครั้งประวัติศาตร์

คำสอนหลวงปู่เทสก์


ธรรม คือ ของจริงของแท้ เป็นแก่นของโลก ธรรม แปลว่า ของเป็นอยู่ทรงอยู่สภาพ ตามเป็นจริง เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เรียกว่า ธรรม ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นธรรมทั้งนั้น เรียก ชาติธรรม ชราธรรม พยาธิธรรม มรณธรรม ทำไมจึงเรียกว่า ธรรม คือทุกๆคนจะต้องเป็นเหมือนกันหมด (ธรรมเทศนาเรื่อง ธรรมะ)

 ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นธาตุสี่เท่านั้น แต่คนเราไปสมมติ แล้วหลงสมมติตนเองต่างหาก มันก็ต้องยุ่งและเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง(อัตตโนประวัติ)


แท้ที่จริงธรรมะคือตัวของเรานี้ทุกคนก็มีแล้ว ครบมูลบริบูรณ์ทุกอย่าง  แต่เราไม่ได้สร้างสมอบรมให้เห็นธรรมะที่มันมีในตนของตน ธรรมะแทรกอยู่ในขันธโลกอันนี้  หากใช้อุบายปัญญาพิจารณากลั่นกรองด้วยวิธี 3 อย่าง มีศีล สมาธิ ปัญญา ดังอธิบายแล้ว รมะ จะปรากฎในตัวของตน (ธรรมเทศนาเรื่องวิจัยธรรมออกจากโลก)


การศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าจะให้เข้าใจถูกต้องแล้ว ต้องให้มีทั้งปริยัติคือ การศึกษา และปฏิบัติตามความรู้ที่ได้ศึกษามานั้นให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการปฏิบัติ ถ้าไม่ยืนตัว อยู่ในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว จะไม่มีความถูกต้องอันจะให้เกิดความรู้ ในสัจธรรมได้เลย มรรคปฏิปทาอันจะให้ถึงสัจธรรมนั้น ก็ต้องรวมศีล สมาธิ ปัญญา  ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วปฏิเวธธรรมจึงจะเกิดขึ้นได้ (ธรรมเทศนา เรื่อง พุทธบริษัทพึงปฏิบัติตนเช่นไร)


คนที่จะพ้นจากทุกข์ได้ พ้นจากโลกนี้ได้ พ้นจากกรรมได้ ก็เพราะใจอันเดียว จงยึดใจถือใจเป็นสำคัญ จะมาเกิดก็เพราะใจ เกิดแล้วจะมาสร้างกิเลสขึ้นก็เพราะใจ เป็นทุกข์ก็เพราะใจ ถ้าใจไม่เป็นทุกข์ ใจไม่ยึดถือ ปล่อยทิ้งเสีย กายอันนี้ก็ไปตามเรื่องของกาย ใจก็เป็นตามเรื่องของใจ หมดเรื่องหมดราวกันที (ธรรมเทศนาเรื่องกรรม)


 หิริ โอตฺตปฺป นี้เป็นธรรมที่สำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของศีล เป็นต้นตอของศีล ผู้จะมีศีลได้ ไม่ว่าจะเป็นศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 หรือศีล 227 ก็ตาม ต้องมีหิริ และโอตฺตปฺป 2 อย่างนี้ เนื่องจากได้เห็นจิตของตน เห็นความนึกความคิดความปรุงจิตของตน แล้วก็กลัวบาป ละอายบาป จึงไม่อาจจะทำความชั่วได้ ฉะนั้น ศีลก็บริสุทธิ์เท่านั้นเอง (ธรรมเทศนาเรื่อง เทวตานุสสติ)


 การภาวนา คือ การอบรมจิตใจให้มีความสงบ เป็นการชำระจิตใจให้สงบจากอารมณ์ต่าง ๆ เป็นการละเอียดไปกว่าการรักษาศีลอีก จิตของเราถ้ายังไม่สงบตราบใดแล้ว มันก็จะต้องยุ่งวุ่นวายอยู่ตราบนั้น เมื่อมาฝึกหัดภาวนา เห็นโทษเห็นภัย ของความยุ่ง ความไม่สงบด้วยตนเองแล้ว เราก็จะพยายามทุกวิถีทางที่จะละความไม่สงบ เมื่อสิ่งใดที่ละได้แล้ว  อารมณ์ใดที่วางได้แล้ว เราก็จะต้องรักษาไม่ให้สิ่งนั้น มันเกิดขึ้นมาอีก ไม่ใช่ว่าเราละได้แล้ว ก็แล้วไปเลย ไม่ต้องคำนึงถึงมันอีก อย่างนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมันอาจสามารถที่จะฟื้นฟู ขึ้นมาใหม่อีก ถ้ามันเกิดมาทีหลังจะยิ่งร้ายกว่าเก่า (ธรรมเทศนาเรื่อง มาร)



 ฝึกหัดจิตให้เข้าถึงใจ วิธีปฏิบัติฝึกหัดกรรมฐานมีเท่านี้แหละ ใครจะฝึกหัดปฏิบัติอย่างไรก็เอาเถอะ จะภาวนาพุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนอ หรืออานาปานสติ ก็ไม่เป็นปัญหา คำบริกรรมเหล่านั้นก็เพื่อล่อจิตเข้ามาอยู่ในคำบริกรรม แต่คนที่เข้าใจผิดถือว่าตนดีวิเศษโอ้อวดเพื่อนว่าของข้าถูกของเอ็งละผิด อย่างนั้นอย่างนี้ต่างๆนานา พุทธศาสนาแท้ไม่เป็นอย่างนั้นหรอก มันต้องเป็นอันเดียวกัน ไม่มีใครผิดใครถูก เมื่อปฏิบัติถึงจิตรวมแล้ว จิตรวมเข้าไปเป็นอัปปนาแล้วหมดเรื่อง จิตรวมเข้าถึงอัปปนาแล้ว
ถึงที่สุดของการทำสมาธิเท่านี้ ไม่มีอะไรแตกต่างกัน (ธรรมเทศนาเรื่อง การปฏิบัติเบื้องต้น)



สติตัวนี้ควบคุมจิตอยู่ได้ ถ้าเผลอเวลาใดไปเวลานั้น ทำชั่วเวลานั้น จึงให้รักษาจิตตรงนั้นแหละ ควบคุมจิตตรงนั้นแหละ ให้มันอยู่นิ่วแน่วเป็นสมาธิภาวนา เข้าถึงในสงบนิ่งแน่วเฉยอยู่ ให้หัดตรงนี้แหละ พระพุทธศาสนาไม่ให้หัดอื่นไกล หัดตรงนี้แหละ ปฏิบัติศาสนาก็ปฏิบัติตรงนี้แหละ จะถึงศีล สมาธิ ปัญญา ก็ตั้งนั้นแหละ… (ธรรมเทศนาเรื่อง เบื้องต้นของการปฏิบัติกัมมัฏฐาน)


จิตเป็นสมาธิแล้ว นั่นจึงจะมองเห็นธรรม คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายได้ชัดเจน (ธรรมเทศนาเรื่อง ธรรมะ)


 จิตมันต้องเป็นหนึ่ง ถ้าไม่ใช่หนึ่งแล้วก็ไม่ใช่จิต จิตเป็นหนึ่งกลายเป็นใจละ คราวนี้ตัวจิตนั่นแหละกลายเป็นใจ อันที่นิ่งเฉย ไม่คิดไม่นึก ไม่ปรุงไม่แต่ง ความรู้สึกเฉยๆ นั่นแหละ มันกลายเป็นใจ จิตมันกลายเป็นใจ (ธรรมเทศนาเรื่อง วิธีหาจิต)


 ความจริงกิเลสไม่มีตนมีตัว ไม่ได้เอาไปละที่ไหน หรือเอาไปทิ้งให้ใคร เป็นการละออกจากใจของตนเอง (ธรรมเทศนาเรื่อง เพียรละความชั่ว)


 ปัญญาวิปัสสนา คือเห็นสิ่งทั้งปวงหมด เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งเหล่านั้นเป็นของไร้สาระ เป็นโทษเป็นทุกข์ เป็นภัยอันตรายแก่จิตใจ จึงปล่อยวางทอดธุระในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อันนี้เป็นปัญญาอันวิเศษสูงสุด เพราะคนจะพ้นจากโลกได้ก็เพราะเห็นที่สุดของโลก คือได้แก่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
(ธรรมเทศนาเรื่อง หลักการปฏิบัติธรรม)


ขอให้มีศรัทธา ทำทานไปเรื่อย ทั้งทานภายนอก ทานภายใน รักษาศีล คือรักษากาย วาจา และใจ ให้มันเป็นปกติ หรือรักษาจิตนั่นเอง คอยมีสติปกครองจิตใจ สิ่งใดไม่ควรคิดก็ไม่คิด สิ่งใดไม่ควรพูดก็ไม่พูด สิ่งใดไม่ควรทำก็ไม่ทำ เพราะเรามีสติรู้อยู่ว่าเราเป็นผู้มีศีล (ธรรมเทศนาเรื่อง สติควบคุมจิต)


 ผู้มีศรัทธา มีความเพียรด้วย และมีความอดทน กล้าหาญ ประกอบด้วยปัญญา ระกอบด้วยความเพียร รักษาความดีนั้น ๆ ไว้ติดต่อกันอย่าให้ขาด นั่นแลจึงสามารถขจัดกิเลสสานสัยให้หมดสิ้นไปได้ (อัตตโนประวัติฯ)


บุญกุศลที่สร้างสมถึงที่แล้วมันจะหมดเรื่อง ไม่มีอะไรอีก และไม่เอาไปด้วย บาปก็ไม่เอา บุญก็ไม่เอา ผู้ที่ยังเอาอยู่จึงได้บุญได้บาป เป็นภพเป็นชาติขึ้น ผู้ทอดธุระแล้ว ไม่มีบุญและบาปแล้ว จึงได้เรียกว่า โลกุตระ เหนือโลก (ธรรมเทศนาเรื่องจิตที่ควรข่ม-ควรข่มขี่-ควรละ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

-