ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันอาทิตย์

พละ 5 - อินทรีย์ 5

ธรรมะน่ารู้ วันนี้แม่หมอขอพาเพื่อนๆไปรู้จักกับ หลักธรรมที่เกี่ยวกับกำลัง นั่นก็คือพละ5 .... พละ หมายถึง ธรรมอันเป็นกำลัง เป็นธรรมที่มีกำลังในการปกป้องคุ้มครองจิตใจไม่ให้อกุศลเข้ามาครอบงำได้ หรือเป็นเกราะป้องกันจิต ไม่ให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลาย ......  พละ 5 เป็นธรรมที่ทำให้บุคคลที่ปฏิบัติธรรมีบุคลิกภาพของผู้นำ ที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีสติปัญญาที่จะนำตนเองให้ยิ่งใหญ่ในกิจของตน ทำให้เกิดความมั่นคงแก่ชีวิต  เป็นพลังทำให้เกิดความมั่นคง ปราศจากความลังเล ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซาน และความหลง อันมีรายละเอียด ดังนี้

1. ศรัทธาพละ หมายถึง พลังคือความเชื่อ  กำลังการควบคุมความสงสัย คือเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เชื่ออย่างมีเหตุผล เมื่อความเชื่อเกิดขึ้นในใจแล้วย่อมมีพลังในการทำกุศล ต่อต้านอกุศลมิให้เข้ามารบกวนจิตใจได้ จิตใจก็ไม่ตกอยู่ภายใต้ความชั่วร้ายทั้งหลาย เช่นเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็เป็นพลังให้เราทำความดี เป็นต้น

2. วิริยพละ หมายถึง พลังคือความเพียร กำลังควบคุมไม่ให้ไม่เกียจคร้าน  การเพียรระวังไม่ให้ความชั่วหรือบาปอกุศลเกิดขึ้นในใจ เพียรลด ละ เลิกต่อความชั่วทั้งหลาย เพียรทำความดีและเพียรรักษาความดีให้คงอยู่และเพิ่มพูดงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไปความเพียรนี้จึงเป็นพลังในการต่อต้านอกุศลกรรมอันเป็นปฏิบัติต่อความเกียจคร้านที่เข้ามารบกวนจิตใจได้เป็นอย่างดี

3. สติพละ หมายถึง พลังคือความระลึกได้กำลังการควบคุมความประมาท การไม่ใส่ใจ ใจลอย ไร้สติ
การมีสติคือการระลึกได้ก่อนคิด ก่อนพูด ก่อนทำอะไรก็ตาม เป็นคุณธรรมที่ทำให้เกิดความรอบคอบ ไม่หลงลืม ไม่หลงไหล ไม่ลืมตัว บุคคลประกอบกิจการใด ๆ โดยใช้สติเป็นผู้กำกับแล้ว ก็จะไม่เกิดความผิดพลาดได้ง่าย ดังนั้นสติจึงเป็นพลังต่อต้านไม่ให้บุคคลเกิดความประมาท ไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาด หรือเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้

4. สมาธิพละ หมายถึงพลังในการตั้งจิตมั่น ตั้งใจมั่น กำลังการควบคุมการวอกแวก เขว่ไขว่ ฟุ้งซ่าน

5. ปัญญาพละ หมายถึง พลังแห่งปัญญา กำลังการควบคุมเพิกเฉยไม่สนใจ หลงงมงาย  คำว่าปัญญาคือ ความรอบรู้ ความรู้แจ้ง ความรู้จริง คือรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ อะไรผิดอะไรถูก เป็นต้น เมื่อมีความรอบรู้เกิดขึ้น ปัญญาจึงเป็นพลังต่อต้านความหลง ความโง่เขลา มิให้เกิดขึ้นกับจิตใจได้

พละ5นี้ เป็นหลักธรรมที่ผู้เจริญวิปัสสนาพึงรู้...... ศรัทธาต้องปรับให้สมดุลกับปัญญา วิริยะต้องปรับให้สมดุลกับสมาธิ ส่วนสติพึงเจริญให้มากเนื่องเป็นหลักที่มีสภาวะปรับสมดุลของจิตภายในตัวเองอยู่แล้ว.......

พละ5 เป็นหลักธรรมที่คู่กับอินทรีย์5 คือศรัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ โดยมีความเหมือนความแตกต่างและความเกี่ยวเนื่องคือ........  พละ5เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นแก่จิตในปัจจุบันที่ทำให้เกิดมีขึ้น ส่วนอินทรีย์คือพละ5ที่สะสมจนตกผลึก  อินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ พละ คือ ความไม่หวั่นไหว

อินทรีย์ 5......  มีศรัทธา คือสัทธินทรีย์มีความเป็นใหญ่ในสภาพธัมมะของตนคือน้อมใจเชื่อ วิริยินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการประคองไว้ สตินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการระลึก สมาธินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการไม่ฟุ้งซ่าน ปัญญินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการเห็นตามความเป็นจริง

พละ 5...... ศรัทธาพละ มีความไม่หวั่นไหวในการไม่มีศรัทธา วิริยะพละมีความไม่หวั่นไหวในการเกียจคร้าน สติพละ มีความไม่หวั่นไหวในความไม่ประมาท สมาธิพละมีความไม่หวั่นไหวเพราะความฟุ้งซ่าน ปัญญาพละ มีความไม่หวั่นไหวในความไม่รู้.....

 พละ5 และอินทรีย์ 5 เหมือนกัน โดยองค์ธรรมแล้วเหมือนกัน เพียงแต่อธิบายคนละนัย..... คือ ความเป็นใหญ่และความไม่หวั่นไหว เปรียบเหมือน แม่น้ำ มีเกาะอยู่ตรงกลาง พึงทราบว่า แม่น้ำสองสาย ที่แบ่งโดยเกาะตรงกลาง ก็เป็นสายน้ำเดียวกันและก็ย่อมบรรจบกัน  ทั้งอินทรีย์ 5 และพละ 5 ก็คือการอบรมเจริญปัญญาเพื่อบรรลุมรรคผลนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

-