ทักทาย

แม่หมอขอแนะนำตัวเองก่อนเลยนะคะ ก็เป็นผู้หญิงธรรมด๊าธรรมดาคนนึง อาจดูเหมือนเป็นสาวมั่นที่ลุ๊คดู เปรี้ยวไปบ้างเล็กน้อย ..... ส่วนใหญ่วันๆ ก็ทำงาน หาเงิน (แล้วก็อยากรวย) ว่างๆก็ใช้เงิน หาเงิน วนเวียนอยู่กับเงิน อยู่กับงาน อยู่กับครอบครัว ชีวิตหมดไปอย่างงี้แหละค่ะทุกๆวัน ..... แล้วมาวันนึงก็ให้รู้สึก เหนื่อยกับชีวิต บางครั้งก็คิดว่า เอ๊ะทำไมคนนั้นต้องทำกับเราอย่าง นี้ คนนี้ต้องทำกับเราอย่างนั้นด้วย รึทำไมน๊าถึงซวยอย่างนี้ และอื่นๆอีกมากมาย .....คราวนี้ก็มาลองคิดดู คิดไปคิดมาก็ให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แต่คงเป็นโชคดีที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่าน วันนึงก็เลยลองหยิบหนังสือแนว ธรรมะขึ้นมาอ่าน(กะอ่านเล่นๆ)... แล้วก็เริ่มเห็นจริงในบางเรื่อง ....แล้วก็เริ่มเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง ..... สุดท้ายศรัทธาก็เกิดและชีวิตก็มีความสุขขึ้นตามลำดับ ......... แม่หมอคิดว่า คนเราเลือกที่จะมีความสุขได้นะคะ อยู่ที่เราจะเลือกรึเปล่า และกฎแห่งกรรมก็มีจริงค่ะอาจช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง แต่มีจริงแน่นอนค่ะ ..... ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปรัชญา เป็นศาสนาที่เน้นแนวคิด.... บางครั้งเราอาจคิดว่าห่างไกลกับชีวิตประจำ วันของเรา หรือ บางคนอาจคิดว่าวัยยังไม่ถึงยังไม่แก่ซะหน่อย ....แต่ไม่ลองไม่รู้ค่ะ แม่หมอเลยอยากชวนเพื่อนๆให้มาเริ่มศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกับแม่หมอ เราจะเดินไปด้วยกันสู่เส้นทางสายธรรมเพื่อความสุขที่เราเลือกจะมีค่



a

วันอังคาร

การฝึกสมาธิที่นิยมกันในโลกปัจจุบัน

ฝึกสมาธิ ในเรียนรู้ธรรมะไปกับแม่หมอ วันนี้จะขอพาเพื่อนๆมารู้จักรูปแบบการฝึกสมาธิ ที่เป็นที่นิยมในโลกปัจจุบันกันซักหน่อยนะคะ ..... ว่าไปแล้วยุคนี้ การฝึกสมาธิเป็นที่นิยมทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก มีผลการพิสูจน์แล้วว่า การฝึกสมาธิมีผลโดยตรงต่อระบบการพัฒนาของสมอง ซึ่งอันที่จริง การฝึกสมาธินั้นมามานาน แล้วในรูปแบบต่างๆ  วันนี้แม่หมอกเลยจะพาเพื่อนๆมารู้จักการฝึกสมาธิในรูปแบบต่างๆกัน ตามมาดูกันเลยนะคะ 

การฝึกสมาธิแบบโยคะ

การฝึกโยคะ เป็นการฝึกสมาธิที่มีมานานก่อนพุทธกาล โดยใช้วิธีการ บริหารร่างกาย ซึ่งมีหลักการคือ “ สุขภาพทางกายเป็นรากฐานของสุขภาพทางจิต” ดังนั้นในกลุ่มคนที่ฝึกโยคะจะมีการออกกำลังกายและส่งใจไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เกิดความผ่อนคลาย และยังเน้นเรื่องของการกำหนดลมหายใจ หรือปราณ ซึ่งเชื่อว่า มีความสัมพันธ์กับจิตอย่างแนบแน่น นั่นเองค่ะ

การฝึกสมาธิแบบ TM

TM ย่อจาก Transcendental Meditation ที่ถูกนำไปเผยแผ่โดยมหาฤๅษี วิธีการของ TM คือ การท่อง “ มนตรา” (Muntra) ซึ่งจะท่องซ้ำ ๆ ในใจ ให้เกิดความผ่อนคลาย ........  การฝึกสมาธิตามแบบทิเบต นั้นเป็นวิธีการปฏิบัติแนวหนึ่งที่นอกจากต้องการจิตใจที่บริสุทธิ์แล้วยังต้องการอำนาจจิตด้วยรูปแบบการฝึกจึงมุ่งเพ่งความคิดให้แน่วแน่ลงไปในสิ่งเดียว หากสามารถรวมพลังจิตทำนองเดียวกับการรวมแสงอาทิตย์จะทำให้ได้พลังจิตอย่างมหาศาล  ............ การปฏิบัติสมาธิแบบนี้จะต้องหลอมรวมร่างกาย ความคิด และประสาทสัมผัสเข้าด้วยกัน ด้วยดวงจิตที่มีสติควบคุมจดจ่อ เป็นอารมณ์เดียว และจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนให้ครบถ้วนจึงจะบังเกิดผลขึ้นมาได้ในเวลาอันควร การปฏิบัติทุกขั้นตอนจะต้องไม่รีบร้อน ให้ทำแบบช้า ๆ เพื่อให้ทั้งร่างกาย ความคิด และประสาทสัมผัส สามารถผสมผสานเข้าสู่กระบวนการได้อย่างถูกต้อง ผลที่เกิดขึ้นจะได้ไม่ขาดตกบกพร่อง  ........ ซึ่งขั้นตอนการฝึกสมาธิแบบนี้จะมีลำดับในการปฏิบัติคือ 1. การพักผ่อน  2. การกำหนดลมหายใจ 3. การฝึกความสงบ 4. การภาวนา 5. การเพ่งกสิณ  ........... กล่าวโดยทั่วไปได้ว่า การฝึกสมาธิแบบทิเบตเป็นการฝึกโดยเริ่มต้นจากความผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ แล้วค่อยฝึกลมหายใจให้ยาวและลึก พร้อมกับคำภาวนาเมื่อใจสงบดีแล้วก็มาฝึกเพ่งกสิณกันต่อ ซึ่งกสิณที่ชาวทิเบตนิยมทำกันมากก็คือ กสิณแสงสว่าง และการเพ่งลูกแก้ว โดยมุ่งให้เกิดอำนาจทางจิตมีตาทิพย์ เป็นต้น

การฝึกสมาธิแบบมหายาน

สมาธิแบบเซนในปัจจุบัน   เป็นวิธีปฏิบัติที่นิยมในพระพุทธศาสนานิกายเซนในประเทศญี่ปุ่น มีวิธีปฏิบัติที่สำคัญอยู่ 2 สาย สายแรกคือ รินไซเซน (Rinzai Zen) มีปริศนาธรรมเป็นหัวใจของการปฏิบัติ ส่วนสายที่สองคือ โซโตะเซน (Soto Zen) ใช้อีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่า ชิคานทาซา เป็นหัวใจของการปฏิบัติ

รินไซเซนในปัจจุบันใช้โกอานเป็นหัวใจของการปฏิบัติ ซึ่งการปฏิบัตินั้นเมื่อนักศึกษาเข้าไปขอกรรมฐานกับอาจารย์แล้ว อาจารย์ก็จะให้โกอานข้อที่หนึ่งซึ่งก็คือ ให้ภาวนาคำว่า “ มู” จนกว่าจะหาคำตอบได้ พอตอบได้แล้ว อาจารย์ก็จะให้โกอานข้อที่ 2 เราตอบได้ก็ให้ข้อที่ 3 ข้อที่ 4 ข้อที่ 5 ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดโกอานในหนังสือ “ มูมอนคาน” แล้วถือว่าจบหลักสูตร ถือได้ว่ารู้ธรรมะขั้นลึกซึ้ง ซึ่งลักษณะการทำภาวนาแบบนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะหาคำตอบจากการภาวนาก็ตาม การนั่งนั้นเขาก็นั่งนิ่ง หลับตาภาวนา ดูลมหายใจ และในการดูลมหายใจนั้นเขาก็กำกับคำภาวนาด้วย .........นอกจากนี้ยังมีบางสำนัก คือ “ เรียวโคอิน” ที่อาจารย์โคโบริ โรชิ สอนชาวต่างประเทศได้ประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมตะวันตก คือ ขณะที่อาจารย์เซนคนอื่นสอนให้ภาวนาคำว่า “ มู” ท่านโคโบริ ก็สอนให้ชาวตะวันตกภาวนาว่า “ one” ทำภาวนาอย่างนี้จนความรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างเดียวกับคำภาวนา

ส่วนสายที่ 2 คือ โซโตะเซน ใช้วิธีการที่แตกต่างออกไป คือ เขาให้นั่งสมาธินิ่งๆ แต่ไม่หลับตา และไม่ต้องภาวนา ไม่ต้องดูลมหายใจ ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น นั่งเฉยๆ แล้วให้รู้สึกตัว เช่น ในขณะที่นั่งนั้นมีเสียงรถผ่านไปก็ให้รู้ ลมพัดมาต้องกายก็ให้รู้ มีอะไรเกิดขึ้นรอบกายก็ให้รู้ ให้นั่งอยู่ในความรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง มีสติรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง วิธีการนี้เรียกว่า “ ชิคานทาซา”

สรุป สมาธิแบบเซนจะมุ่งเน้นความสงบทางใจโดยการนั่งนิ่ง ๆ แล้วนำคำภาวนามาขบคิดจนเกิดความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความสว่าง สงบ และความยินดี

การฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ

การฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ เป็นรูปแบบการฝึกสมาธิที่นิยมฝึกกันมากในพระพุทธศาสนาเถรวาท ในที่นี้จักขอยกเอาการฝึกสมาธิตามแบบสายพระธุดงค์อีสาน โดยมีพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นครูผู้สอน7) ซึ่งท่านใช้คำว่า พุท-โธ เป็นหลักในการภาวนาตามจังหวะลมหายใจเข้า-ออก นอกจากนี้ท่านยังเน้นการเดินจงกรม โดยระยะที่จะเดินประมาณ 5 ถึง 10 เมตร มองทอดสายตาดูไปข้างหน้า ประมาณ 4 ก้าว เพื่อไม่ให้จิตใจวอกแวก กำหนดจิตของเราอยู่ที่ก้าวเดินและคำภาวนา การทำสมาธิแบบอานาปานสติ จะใช้วิธีเอาสติไปอยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออก โดยภาวนาพุท-โธ กำกับด้วย

การฝึกสมาธิแบบพองหนอ-ยุบหนอ


การฝึกสมาธิแบบนี้ เน้นการใช้สติปัฏฐาน 4 ควบคู่กับการบริกรรมพองหนอ-ยุบหนอ เป็นแนวการสอนสมาธิตามแบบประเทศพม่า ซึ่งพระธรรมธีรราชมหามุนี (พระมหาโชดก ญาณสิทธิ) เป็นผู้ไปฝึกปฏิบัติแล้วนำมาเผยแพร่ที่ประเทศไทย และท่านได้จัดสอนที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ ท่าพระจันทร์ และต่อมาได้รับความนิยมนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลาย วิธีปฏิบัติ ทั้งมีการให้เดินจงกรม โดยเน้นให้มีสติอยู่ที่ส้นเท้าเป็นหลัก และเมื่อเดินจงกรมครบกำหนดแล้วให้นั่งสมาธิ เอาสติไว้ที่ท้องภาวนาว่า “ พองหนอ ยุบหนอ” ตามอาการพองยุบของหน้าท้องเวลาหายใจเข้าออก ถ้านั่งครบกำหนดแล้ว ก็ให้ลุกขึ้นเดินจงกรมอีก และนั่งสมาธิอีก ทำให้ต่อเนื่องสลับกันไป สำหรับการนั่งสมาธิ และเดินจงกรมลักษณะนี้ มุ่งเน้นพิจารณาตามกฎไตรลักษณ์ ส่วนวิธีการอาจมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด ตามแต่อาจารย์จะนำไปประยุกต์สอน การทำสมาธิด้วยการภาวนา พองหนอ-ยุบหนอ เป็นการฝึกสติอยู่กับลมหายใจที่ท้องเป็นหลัก ส่วนถ้ามีอารมณ์อื่นมาแทรกก็ให้พิจารณา คือ เอาอารมณ์นั้นมาภาวนาแทนจนกว่าใจจะสงบ ส่วนถ้าเดินจงกรมก็ให้มีสติอยู่กับเท้าที่เดินอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้มุ่งหวังให้ใจรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองอยู่เสมอ

การฝึกสมาธิเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย

การฝึกสมาธิแบบนี้ เป็นการฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนาที่พระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำภาษีเจริญท่านค้นพบวิธีการปฏิบัติ และนำมาสอนจนสามารถทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าสิ่งที่พระมงคลเทพมุนี (หรือที่ผู้คนนิยม กล่าวถึงท่านติดปากว่า “ หลวงปู่วัดปากน้ำ”) นำมาสอนนั้น แม้จะเป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการปฏิบัติ แต่ก็มีปรากฏสอดคล้องกับพระธรรมคำสอนที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เช่น คำว่า “ ธรรมกาย”และวิธีการปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมกายก็สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

-