วัดเจติยาคีรีวิหาร(ภูทอก) อำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย
หลวงปู่จวนเป็นพระธุดงค์กรรมฐานที่มีปฏิปทาโลดโผน.............. เป็นลูกศิษย์รุ่นสุดสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และสืบทอดปฏิปทาของหลวงปู่ขาว อนาลโย เมื่อ ครั้งเป็นฆราวาสท่านได้ศึกษาและปฏิบัติตามหนังสือไตรสรณคมณ์ ของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้รับผลแห่งการปฏิบัติคือความสงบใจต่อมา เมื่อท่านได้บวชและปฏิบัติได้เพียงห้าพรรษา ท่านก็ได้รับคำชมจากหลวงปู่มั่น ว่าเป็นผู้มีกาย วาจา สมควรแก่การบรรลุธรรม
หลวงปู่จวน มีชาติกำเนิดในสกุล "นรมาส" เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ........ตรงณ บ้านเหล่ามันแกวตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ..........บิดาท่านชื่อ ลา มารดาชื่อ แหวะ สกุลเดิม วงศ์จันทร์ บรรพบุรุษของท่านอพยพมาจากเวียงจันทน์ บิดามีอาชีพทำนา และมีความรู้ทางด้านสมุนไพร........... ในสมัยเด็ก ท่านเริ่มเข้าเรียนหนังสือเมื่ออายุครบ ๙ ขวบเต็ม ต้องเดินไปโรงเรียนที่อีกหมู่บ้าน จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ หลังจากจบการศึกษาแล้ว อายุย่างเข้า ๑๘ ปี ท่านได้เข้าทำราชการกรมทางหลวงแผ่นดิน อยู่เป็นเวลา ๔ ปี จึงได้ลาออกเพื่อเตรียมอุปสมบท ........กล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้มีนิสัยฝักใฝ่ในทางธรรมะมาแต่เด็ก นอกจากการวิ่งเล่นซุกซนสนุกสนานตามวิสัยเด็กน้อยแล้ว สำหรับนิสัยทางสร้างบาปสร้างกรรมไม่มีเลย ท่านเล่าเสมอว่าท่านไม่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ส่วนการหยิบฉวยลักขโมยนั้น แม้แต่เข็มสักเล่มเดียวก็ไม่เคยหยิบฉวยของใครเลย
หลวงปู่จวนเมื่อท่านอายุได้ ๑๔-๑๕ ปี ได้พบพระธุดงค์ มาปักกลดอยู่ใกล้บ้าน............. ก็บังเกิดความเลื่อมใสตั้งปณิธานว่าต่อไปจะบวชอย่างท่านบ้าง พระธุดงค์ได้มอบหนังสือ "ไตรสรณาคมน์" ของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม แห่งวัดป่าสาละวัน นครราชสีมา มาให้ หนังสือนี้นอกจากสอนให้พุทธศาสนิกชน รู้จักการเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริงแล้ว ได้สอนวิธีปฏิบัติภาวนาด้วย ท่านบังเกิดความคิดเลื่อมใสศรัทธา จึงจะลองปฏิบัติตามหนังสือนั้น เริ่มสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรต่อ แล้วนั่งสมาธิหัดบริกรรม "พุทโธ ...พุทโธ...พุทโธ" จนกระทั่งปรากฏว่าจิตรวม จิตกับกายแยกกัน ไม่เหมือนกัน จิตอยู่เฉพาะจิต กายอยู่เฉพาะกาย เวทนาใดก็ไม่มีปรากฏเลย ............. ท่านเล่าว่า เวลานั้นก็ไม่รู้จักอะไรลึกซึ้ง ด้วยหัดเอง ทำเอง ทำตามลำพังคนเดียวไม่มีผู้รู้มาสอนให้ก้าวหน้าขึ้น ได้แต่รู้สึกว่านั่งสมาธิแล้วก็สบายดี กายเบา จิตขาวนิ่มนวลผ่องใส เหมือนนั่งนอนอยู่อากาศอันนิ่มนวล ทำให้จิตใจดูดดื่มมาก นึกอยากจะภาวนาเสมอ ๆ ถ้าวันไหนใจไม่สบาย ก็ต้องเข้าที่นั่งภาวนา สงบใจเสมอ
หลวงปู่จวนเมื่ออายุ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายมหานิกาย............ ที่วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ......ระหว่างที่บวชเป็นพระบ้านอยู่นั้น ท่านปรารถนาจะออกธุดงค์เจริญรอยยามพระธุดงคกัมมัฏฐานที่เคยกราบคารวะเมื่อยังเด็ก จึงคิดจะญัตติเป็นธรรมยุตเพื่อออกธุดงค์ เมื่อไปขอลาอุปัชฌาย์ท่านไม่ให้ญัตติให้สึกเสียก่อน ท่านจึงตัดสินใจลาสิกขาบทออกมาเป็นฆราวาสก่อนชั่วคราว....หลังจากสึกมาเป็นฆราวาสแล้ว ท่านได้เดินทางไปแสวงหาอาจารย์ฝ่ายธรรมยุตกัมมัฏฐาน ได้มาพบที่สำนักวัดป่าสำราญนิเวศน์ อำเภออำนาจเจริญ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ณ จังหวัดอุบลราชธานี ....... เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้รับคำสั่งให้ท่องปาฏิโมกข์ และเจ็ดตำนานให้ได้หมดภายในหนึ่งเดือน ท่านก็พยายามท่องจำทั้งกลางวันกลางคืน จนสามารถท่องได้ตามที่อาจารย์ของท่านกำหนดไว้ จึงได้รับคำชมเชยจากอาจารย์เป็นอันมาก ท่านได้เร่งทำความเพียรอย่างขะมักเขม้น เดินมาก นั่งมาก ฉันน้อย บางวันก็ไม่ฉันสลับกันไป ...........ในระหว่างพรรษาขณะนั่งฟังเทศน์ จิตของท่านสงบลง เกิดภาพนิมิตขึ้นในจิต ปรากฏร่างของท่านเน่าเปื่อยเป็นอสุภ เห็นขาของตัวเองเน่าเปื่อย มีน้ำเหลืองไหล เหมือนมองดูด้วยตาเนื้อ ท่านอาจารย์จึงได้พิจารณาอสุภะต่อไปเป็นประจำ
หลวงปู่จวนได้อยู่จำพรรษา ณ วัดป่าบ้านนาจิก....... ซึ่งเป็นสถานที่ท่านได้เข้าไปบ่รับปรุงและสร้างเป็นวัด อันเป็นวัดแรกที่ท่านสร้างขึ้น ในพรรษานั้นท่านได้อธิษฐานทำความเพียรจะไม่นอนและฉันเลยตลอดพรรษา การอธิษฐานไม่นอนนี้ นอกจากจะไม่ยอมให้หลังแตะพื้นแล้ว จิตต้องทำความรู้ตัวตลอดเวลา ไม่ให้ตกภวังค์แม้แต่ขณะจิตเดียว ไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถ เดิน ยืน หรือนั่ง ในระยะนั้นยังใช้คำบริกรรม “พุทโธ” เป็นพื้น มีการพิจารณาร่วมไปด้วย พอกลางพรรษาเกิดวิปริตทางธาตุ คือ มีน้ำมันสมองไหลออกทางจมูกเป็นน้ำเหลือง ท่านเจ้าอาวาสจึงขอร้องให้ท่านนอนพักผ่อนเสียบ้าง และต่อมาถึงกับบังคับให้ท่านนอนพัก มิจะนั้นต่อไปตาอาจจะบอดได้ ท่านอาจารย์จึงได้ยอมพักผ่อนหลับนอนบ้างเล็กน้อย แต่ก็ยังทำความเพียรอยู่
หลวงปู่จวนจวนได้มีโอกาสศึกษาอบรมอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น........ ท่านได้อธิษฐานพรรษาอยู่กับท่านจนตลอดพรรษาที่ ๔ โอวาทของท่านจะแนะนำให้ประพฤติปฏิบัติทางพระวินัย ให้เคร่งครัด รวมทั้งการธุดงค์ การภาวนาให้พิจารณากายเป็นส่วนมาก พิจารณากายส่วนใดส่วนหนึ่งให้ถูกกับจริตนิสัยของตัวเอง ..........ถ้าจิตไม่สงบมีความฟุ้งซ่าน ให้น้อมนึกเข้ามาด้วยความมีสติ นึกภาวนาแต่พุทโธ เมื่อจิตสงบแล้วให้พักพุทโธไว้ให้อยู่ในความสงบ แต่มีสติ ฝึกให้ชำนิชำนาญ แล้วให้นึกน้อมเข้ามาพิจารณากายของตนเองด้วยความมีสติ มิให้พลั้งเผลอ เมื่อจิตรวมก็ให้มีสติ รู้ว่าจิตรวม อย่าบังคับให้จิตรวม ให้มีสติอยู่ว่าจิตรวม อย่าถอนจิตที่รวมอยู่ ให้จิตถอนออกเอง พอจิตถอน ให้น้อมเข้ามาพิจารณากายที่เคยพิจารณาอยู่ ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา........... ส่วนนิมิตที่เกิดขึ้น แสดงเป็นภาพภายนอก หรือนิมิตภายใน ก็ให้น้อมเข้ามาพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งใดมีเกิดก็ต้องมีดับ อย่าพลั้งเผลอลุ่มหลงไปตามนิมิตที่เกิดขึ้น แล้วน้อมเข้ามาพิจารณากายให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ว่ามิใช่ของตน ให้พิจารณาอย่างมีสติ เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้วก็ให้พักอย่างสงบเมื่อสงบพอสมควรแล้วก็ให้พิจารณาต่อ ท่านเล่าให้ฟังว่า คำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นจะเป็นในหลักนี้เสมอ............เมื่อท่านได้รับโอวาทจากท่านพระอาจารย์มั่น ก็ได้เร่งทำความเพียรตามสติปัญญา เข้าใจว่าท่านพระอาจารย์มั่นคงเฝ้าดูการปฏิบัติและจิตของท่านอาจารย์จวนอยู่ตลอด อยู่มาวันหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นจึงกล่าวว่า ได้กำหนดจิตดูท่านจวนแล้ว ได้ความเป็นธรรมว่า “กาเยนะ วาจายะ วะเจตวิสุทธิยา” ท่านจวนเป็นผู้มีกายและจิตสมควรแก่ข้อปฏิบัติธรรม
หลวงปู่จวนได้ออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ท่านเคยกล่าวว่า ถ้าจะเปรียบเทียบกับสถานที่ต่าง ๆ ที่ท่านได้เคยไปมาแล้วนั้น ที่ภูสิงห์น้อยนี้นับว่าเป็นสถานที่ ที่เป็นสัปปายะที่สุด............ เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนาของท่าน แม้ที่ดงหม้อทองจิตจะรวมง่าย แต่ปัญญาก็ไม่แก่กล้า ท่านพึ่งมาได้พิจารณาคิดค้นกายอย่างหนัก พึ่งจะเริ่มกระจ่างมาเป็นลำดับก็ที่ภูสิงห์น้อยนี่เอง...... พอออกพรรษาแล้วหลวงปู่จวนก็ได้ไปพำนักปฏิบัติภาวนาอยู่ที่ถ้ำบูชา ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านแห่งนั้นไป ๑๐ กิโลเมตร ในที่นี้การบิณฑบาตลำบากมาก ท่านได้ขอให้ญาติโยมช่วยกันตัดทางจากบ้านดอนเสียดขึ้นไปบนภูวัวไปถ้ำบูชา ได้ช่วยกันทำอยู่ ๓ เดือนจึงสำเร็จเป็นทางที่รถและเกวียนพอจะเดินขึ้นไปได้......... ระยะที่พำนักวิเวกอยู่ที่ภูวัวได้ ๑ เดือน คืนวันหนึ่งขณะที่นั่งทำความเพียรอยู่นั้นก็ได้เกิดนิมิตขึ้นว่า ได้มีปราสาท ๒ หลังหนึ่งเล็ก อีกหลังนั้นมีความสวยงามวิจิตรมาก ตั้งอยู่ทางด้านเขาภูทอกน้อย และภูทอกใหญ่ เมื่อมองจากภูวัวจะปรากฏเห็นชัดเจนทีเดียว.......ดังนั้นพระอาจารย์จวนจึงเดินทางจากภูวัว ไปยังภูทอกน้อยเพื่อพิสูจน์นิมิตนั้น พอไปถึงก็เดินทางขึ้น ไปบนภูเขาระยะทางที่ผ่านไปนั้น เหมือนดังในนิมิตอยู่ทุกประการ ............ได้สำรวจดูเขาชั้นต่าง ๆ ก็ได้เห็นเป็นโตรก เป็นซอก เป็นถ้ำ เป็นหินผา อันสูงชัน มีภูมิประเทศที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะบูรณะให้เป็นสถานที่สำหรับพระภิกษุสามเณรจะได้อาศัย เป็นที่ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนาธรรมต่อไป
หลวงปู่จวนจึงได้ตัดสินใจอยู่บูรณะและก่อสร้างบริเวณภูทอกเป็นวัดขึ้น.......... และขณะนั้นก็ประกอบเข้าด้วยกับว่าบรรดาชาวบ้านนาคำแคน บ้านนาต้องได้พากันอาราธนาให้ท่านพระอาจารย์จวนได้อยู่โปรด พวกเขาเป็นหลักยึดเหนี่ยวต่อไปอีกทางหนึ่งด้วย .........ท่านได้เริ่มขึ้นไปอยู่บนภูทอกนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ. ๒๕๑๒บริเวณโดยรอบยังเป็นป่าทึบ และรกชัดมาก มีสัตว์ป่าเป็นจำนวนมากทีเดียวสมัยนั้น ความเป็นอยู่ต้องอดน้ำ ต้องอาศัยน้ำฝนที่ค้างขังอยู่ตามแอ่งหิน ..........และเรื่องการบิณฑบาต ก็ต้องอาศัยจากชาวบ้านนาคำแคน ซึ่งอพยพเข้าไปอยู่กันใหม่ ๆ ประมาณ สัก ๑๐ หลังคาเรือน จึงทำให้การบิณฑบาตขาดแคลนมาก พอที่จะได้อาศัยฉันไปตามมีตามได้ .......... พอตกค่ำพระอาจารย์จวนจะขึ้นไปจำวัดอยู่บนชั้น ๕ โดยปีนขึ้นไปตามเครือของเถาวัลย์ตามรากไม้ ปัจจุบันบนชั้น ๕ นั้นเป็นถ้ำวิหารพระ ซึ่งในสมัยก่อนยังเป็นป่าทึบมีต้นไม้ขึ้นอย่างหนาแน่น ............แต่ด้วยความอุตสาหะของท่านพระอาจารย์จวนระหว่างกลางพรรษาที่ ๒๗ นั่นเอง พระอาจารย์จวนได้ชักชวนญาติโยมให้ทำบันไดเวียนขึ้นไปบนเขาชั้นที่ ๕ และชั้นที่ ๖ จนสำเร็จ ได้ทำอยู่ประมาณแค่ ๒ เดือน กับ ๑๐ วันเท่านั้นจึงเสร็จเรียบร้อยดี
หลวงปู่จวนได้อยู่ที่วัดภูทอก และตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ เป็นต้นมา ได้มีคณะญาติโยมโดยเฉพาะจากกรุงเทพฯ ทยอยมากันบ่อยครั้งขึ้น .............ได้มีศรัทธาเพิ่มขึ้น บริจาคทั้งกำลังทรัพย์ และกำลังกายมาช่วยเหลือที่วัด ได้มีการสร้างถังน้ำบนเขาชั้นที่ ๕ สร้างห้องน้ำ ห้องส้วมเพิ่มอีกหลายห้อง นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างกุฏิถาวรสำหรับพระเณรจะได้เป็นที่พัก เพราะแต่ก่อนพระเณรจะใช้เงื้อมหินหรือถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยอีกเป็นจำนวนหลายหลัง และยังได้มีการสร้างกุฏิที่พักสำหรับพระอาคันตุกะ สร้างกุฏิแม่ชี และกุฏิที่พักบนชะง่อนเขาชั้นที่ ๕ สำหรับญาติโยมได้มาพักอีกด้วย.............นอกจากได้ก่อสร้างในวัดแล้ว ยังได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านใกล้เคียงอีกด้วย โดยได้สร้างทำนบกั้นน้ำให้แก่ชาวบ้าน ๖ ทำนบ และในปี ๒๕๒๓ ได้เริ่มทำถนนรอบภูเขา ๓ ลูก คือ ภูทอกน้อย ภูทอกใหญ่ และภูสิงห์น้อย ซึ่งต่างก็เป็นสำนักสงฆ์ของวัด เพื่อเป็นการกั้นเขตแดนวัด จะได้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด และยังเป็นการสงวนป่าไม่อีกด้วย (เมื่อท่านอาจารย์จวนมรณภาพแล้ว งานนี้ยังค้างอยู่ ทางวัดได้ทำต่อจนแล้วเสร็จ รวมทั้งทำนบน้ำแห่งใหม่ในหมู่บ้านด้วย)
หลวงปู่จวนได้รับนิมนต์มากรุงเทพมหานคร ได้รับอุบัติเหตุเครื่องบินตกเที่ยวบิน อุดรธานี -กรุงเทพฯ ........... ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ สิริรวมอายุ ๕๙ ปี ๙ เดือน ๑๘ วัน พรรษา ๓๘
คำสอนหลวงปู่จวน
ดีรู้ชั่วคือตัวปัญญา ...........รู้ยึดรู้ติด ผิดทางพ้นทุกข์
รู้ละรู้วาง ถูกทางปัญญา ......... รู้ไม่ยึดไม่ติด จิตหลุดพ้นคือ " พุทโธ "
รู้อื่นหมื่นแสน ไม่แม้นเท่ารู้ตน .......... คนอื่นหมื่นล้าน ยังไม่พ้นพาลเหมือนดีตน
ชนะอื่นหมื่นโกฎ ยังไม่พ้นโทษ เหมือนชนะตน ............ รู้ตน ดีตน ชนะตน นั้นยอดคนผู้ชนดี
รู้ชั่วไม่ทำดี เป็นผีทั้งตัว ................ รู้ชั่วรู้ดี ไม่ทำดี เป็นผีครึ่งตัว
รู้ดีรู้ชั่ว ทำตัวดี เป็นคนเต็มคน .............. รู้ไม่ยึดไม่ติดหลุดพ้น เป็นคนยอดคน
คนเราเกิดมาต้องรู้จักทำประโยชน์ .............. ถ้าไม่ทำประโยชน์ก็ไม่ใช่มนุษย์ เขาเรียกว่า หมานุษย์..........
พระพุทธองค์ท่านสอนมนุษย์ให้ทำประโยชน์ทั้ง ๓ ประการคือ • ประโยชน์ปัจจุบัน • ประโยชน์ภายภาคหน้า • ประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์เหล่านี้ มนุษย์เราควรจะกระทำไปพร้อมๆ กับชีวิตที่ยังเป็นๆ สดๆ อยู่ ......... ประโยชน์ปัจจุบัน ยังพอแยกแยะออกไปอีกว่า เราควรจะบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ใครบ้าง
• โลกัตถประโยชน์ ให้ทำประโยชน์แก่โลก คือ แก่ส่วนรวม สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ ก็ให้พากันปรับปรุงพัฒนาขึ้นในวัตถุนั้น สิ่งนั้น ทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ ด้านวัตถุ ก็ให้สร้างสรรค์ถาวรวัตถุที่จะเป็นประโยชน์ใช้สอยได้สำหรับส่วนรวม เช่น ถนน วัดวาอาราม ศาลา สระน้ำ โรงเรียน เป็นต้น .......... ด้านจิตใจ ก็ให้ช่วยเหลือเจือจาน เทศนา สั่งสอน แนะนำให้เขามีความคิดที่ถูกต้อง ดีงาม ไม่หลงใหลไปในทางที่ผิด ให้รู้จักทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์...ให้มีความสุขกาย สบายใจ
• ญาตัตถประโยชน์ ให้ทำประโยชน์แก่ญาติพี่น้อง คือ สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน อันคำว่า “ญาติ” นี้ ไม่ใช่หมายความเฉพาะญาติทางสายโลหิตอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายความถึงญาติทางโลกด้วย มนุษย์เราเกิดมาร่วมชาติร่วมศาสนา ร่วมพระมหากษัตริย์องค์เดียวกัน ก็เหมือนญาติสนิทมิตรสหายกันทั้งนั้น ต้องมีการสงเคราะห์บำรุงซึ่งกันและกัน ด้วยกายสงเคราะห์ ด้วยวาจาสงเคราะห์ และด้วยใจสงเคราะห์ มีการแบ่งสันปันส่วนซึ่งกันและกัน มีความเห็นพร้อมเพรียงกัน มีทิฏฐิเสมอกัน มีความสามัคคีปรองดองกัน ไม่แตกแยกกัน รักษา พัฒนา บำรุง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของตน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น